รณรงค์ต้านเชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรม ผ่านแคมเปญ “บึ๊ด จ้ำ บึ๊ด ฮึดสู้เพื่อสัตว์ฟาร์ม”

Last updated: 5 พ.ย. 2566  |  360 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รณรงค์ต้านเชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรม ผ่านแคมเปญ “บึ๊ด จ้ำ บึ๊ด ฮึดสู้เพื่อสัตว์ฟาร์ม”

ปฎิเสธไม่ได้ว่า การพบเชื้อดื้อยาจากเชื้อแบคทีเรียในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่เราควรตระหนักและให้ความสำคัญ  จากการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเสียชีวิตได้

การดื้อยาของจุลชีพ เชื้อแบคทีเรียเป็นปัญหาระดับโลก ที่เกิดการพัฒนาความสามารถของตัวเองให้ทนทานต่อยาต้านจุลชีพที่คนใช้หรือที่เรียกว่ายาปฏิชีวนะ ทำให้การรักษาโรคติดเชื้อไม่ได้ผล ปัจจุบันสถานการณ์การดื้อยาต้านจุลชีพในโลกและในประเทศไทยมีแนวโน้มแย่ลงเรื่อยๆ และมีจำนวนเชื้อดื้อยาเพิ่มมากขึ้น แต่การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยานั้นไม่เพียงพอและไม่ทันต่อความต้องการ ทำให้การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยาทำได้ยาก เกิดค่าใช้จ่ายสูง เกิดผลข้างเคียงมาก และทำให้เกิดการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

จากรายงานล่าสุดขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ในเดือน ต.ค. 2566 พบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในแหล่งน้ำสาธารณะและบริเวณฟาร์มอุตสาหกรรรม อาทิ ฟาร์มสุกร และฟาร์มไก่ ใน จ.นครราชสีมา จ.ฉะเชิงเทรา และจ.นครปฐม ไม่ต่างจากผลตรวจ 4 ปีก่อน และเป็นที่น่าวิตกอย่างมากที่ยังคงพบเชื้อดื้อยา เช่น E.coli และ Klebsiella อยู่ในกลุ่มยาที่นิยมใช้ในฟาร์มอุตสาหกรรม เช่น Ampicillin, Amoxy-clavulanate และ Tetracycline ซึ่งเป็นยากลุ่มเดียวกับที่ใช้รักษาโรคผู้ป่วยที่ติดเชื้อต่างๆ เช่น ในทางเดินปัสสาวะ หลอดลมอักเสบ ภาวะติดเชื้อที่หู ในกระแสเลือด รวมถึงการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ฯลฯ ซึ่งหากคนได้รับเชื้อดื้อยาและเจ็บป่วยจากโรคดังกล่าว อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล ซึ่งปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปีละ 38,000 คน และติดเชื้อปีละ 88,000 ครั้ง นำไปสู่การรักษาที่โรงพยาบาลนานขึ้น 3.24 ล้านวันต่อปี ค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็น 2,539-6,084 ล้านบาท และมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 40,000 ล้านบาท*(ข้อมูลจาก https://amrthailand.net)

จากผลกระทบดังกล่าวทำให้องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทยได้ร่วมกับภาครัฐและเอกชนรณรงค์ต้านเชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรม  โดยการจัดแคมเปญ “บึ๊ด จ้ำ บึ๊ด ฮึดสู้เพื่อสัตว์ฟาร์ม” นำโดย มารีญา พูลเลิศลาภ และ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตร  ผนึกพลังทีม “พายซัพ” ล่องแม่น้ำสามสาย ดีเดย์ แม่น้ำสายแรก “บางปะกง”

จากแคมเปญ “บึ๊ด จ้ำ บึ๊ด ฮึดสู้เพื่อสัตว์ฟาร์ม” เป็นการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของชุมชน ตลอดจนเยาวชนให้มีส่วนร่วมสร้างสังคมตระหนักถึงปัญหาและภัยของเชื้อดื้อยาเพื่อป้องกันและสร้างความปลอดภัยในชุมชน พร้อมเผยผลตรวจเชื้อแบคทีเรียดื้อยาล่าสุดในแหล่งน้ำรอบฟาร์มอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ผ่านกิจกรรมพายซัพบอร์ดในวันที่ 4 พ.ย. 2566 นำร่องแม่น้ำสายแรกแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา จากนั้นในวันที่ 11 พ.ย. 2566 จะล่องแม่น้ำสายที่สอง แม่น้ำนครชัยศรี จ.นครปฐม และปิดท้ายกิจกรรมในวันที่ 21 พ.ย. 2566 ที่แม่น้ำสายที่สาม แม่น้ำเจ้าพระยา จ.กรุงเทพฯ  เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยของเชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำพร้อมลงพื้นที่จัดกิจกรรม และเรียกร้องภาครัฐ ยกระดับมาตรฐานขั้นต่ำเสริมสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มให้สูงขึ้น พร้อมควบคุมและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อการป้องกันโรคโดยไม่จำเป็นอย่างเข้มงวดโดยเร่งด่วน

มารีญา พูลเลิศลาภ ทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “ภัยจากเชื้อยาเป็นเรื่องที่หลายคนมองข้ามแต่กลับแฝงตัวได้อย่างน่ากลัวมาก  องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเราเคยสุ่มสำรวจแหล่งน้ำรอบๆฟาร์มอุตสาหกรรมในประเทศไทยซึ่งพบการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อมและแหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมในฟาร์มอุตสาหกรรม โดยต้นตอของปัญหามาจากการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรมที่ย่ำแย่ ดังนั้นองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจึงได้ร่วมจัดกิจกรรม  “บึ๊ด จ้ำ บึ๊ด ฮึดสู้เพื่อสัตว์ฟาร์ม” เพื่อหวังให้เราทุกคนช่วยกันปรับปรุงโครงสร้างระบบอาหารของเราใหม่ ไม่เลี้ยงสัตว์อย่างทรมาน ด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตสัตว์ฟาร์มให้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดวิกฤติดจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาพร้อมทั้งส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ และสุขภาพของคน รวมถึงยังสามารถลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ด้วยค่ะ”

ด้าน ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานชมรมพายเรือเพื่อแม่น้ำและ Thammasat Fleet กล่าวว่า “แม่น้ำคือชีวิตของเรา เราใช้น้ำจากแม่น้ำทำการเกษตร เราใช้น้ำจากแม่น้ำทำน้ำประปา เรากินปลากินกุ้งจากแม่น้ำ แต่เรากลับปล่อยน้ำเสีย ปล่อยสารพิษต่างๆ ทั้งทางอุตสาหกรรมและทางการเกษตรลงแม่น้ำ แล้วสารพิษพวกนี้มันจะไปไหน มันก็กลับมาสู่ตัวเรา ตอนนี้เชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนลงมาในแม่น้ำลำคลองและสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อสุขภาพของเราเป็นอย่างมาก แล้วแม่น้ำบางปะกงก็เป็นแม่น้ำที่มีการใช้สารเคมีในการเกษตรและยาปฏิชีวนะในฟาร์มสัตว์ และส่งผลต่อสุขภาพของพวกเรา”

ส่วน โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการโครงการสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เปิดเผยว่า “แม้ว่าประเทศไทยจะมียุทธศาสตร์ชาติเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ แต่ปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาจากฟาร์มสัตว์ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผล “การตรวจหาแบคทีเรียดื้อยาที่สำคัญจากสิ่งแวดล้อมบริเวณฟาร์มเลี้ยงสุกรและไก่ เดือนตุลาคม 2566” ในครั้งนี้ ยังคบพบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่แทบไม่ได้แตกต่างจากการตรวจเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งบ่งชี้ว่าสวัสดิภาพสัตว์ที่ย่ำแย่ ต้นตอสำคัญของการใช้ยาปฏิชีวนะแบบเกินความจำเป็นในฟาร์ม ยังคงไม่ได้รับความสำคัญมากเท่าที่ควร การส่งเสริมให้มีการใช้สารทดแทนยาปฏิชีวนะก็ไม่ได้แปลว่าสวัสดิภาพสัตว์จะดีขึ้น ดังนั้นองค์กรฯ จึงเรียกร้องต่อภาครัฐให้ความสำคัญด้านการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม และการบังคับใช้กฎหมายห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรค เพื่อแก้ไขถึงวิกฤตด้านสุขภาพที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่อย่างเร่งด่วน” 

อย่างไรก็ตามปัญหาที่เชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรมจะคร่าชีวิตเราเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวมากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจึงเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทโดยตรงในเรื่องนี้ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้โดยเร่งด่วน ด้วยการ ยกระดับมาตรฐานขั้นต่ำสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มให้สูงขึ้น ให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำในการเลี้ยงสัตว์ฟาร์มที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล (FARMS: Farm Animal Responsible Minimum Standard) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถช่วยลดความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะลดลง   มีการบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มงวดภายใต้แนวคิด “หลักสวัสดิภาพหนึ่งเดียว” (One Health, One Welfare Concept) โดยมีการบูรณาการและการทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นรูปธรรมเพื่อความยั่งยืนของมาตรการ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาทั้งในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน 

ร่วมติดตามความเคลื่อนไหวในกิจกรรมของโครงการ “บึ๊ด จ้ำ บึ๊ด ฮึดสู้เพื่อสัตว์ฟาร์ม” ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเดือนพฤศจิกายนนี้ และติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/Ban-AMR-Campaign

เฟซบุ๊กWorld Animal Protection Thailand องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก

 

          

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้