Last updated: 6 ก.ค. 2568 | 79 จำนวนผู้เข้าชม |
ท่ามกลางความหลากหลายของเห็ดพื้นบ้านในประเทศไทย “เห็ดแครง” ซึ่งมักพบได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทยและสามารถขึ้นได้บนวัสดุหลากหลายชนิด แต่ที่พบมากที่สุดคือบนท่อนไม้ยางพาราที่ตายแล้วในภาคใต้ กำลังถูกยกระดับจากวัตถุดิบพื้นถิ่น สู่การเป็น โปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) แห่งอนาคต โดยนักวิจัยจาก ไบโอเทค สวทช. ได้นำสายพันธุ์เห็ดแครงมาพัฒนาและปรับปรุงพันธุกรรมให้มี คุณภาพการเพาะเลี้ยงสูงขึ้น และที่สำคัญคือ มีโปรตีนสูง ให้รสสัมผัสดี เพาะได้ในโรงเรือน เติบโตไว ปลอดโรค เหมาะกับการพัฒนาเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ
จากการวิจัยเชิงลึกในห้องปฏิบัติการ การคัดเลือกสายพันธุ์เห็ดแครงที่มี ศักยภาพด้านโภชนาการสูง เพาะเลี้ยงง่ายในโรงเรือน หรือระบบฟาร์มแนวตั้ง (vertical farming) และที่สำคัญคือเติบโตเร็ว ลดความเสี่ยงจากการเพาะในธรรมชาติที่ไม่แน่นอนจากฤดูกาล
จุดเด่นของเห็ดแครงสายพันธุ์ใหม่คือ เนื้อสัมผัสเหนียวเด้ง คล้ายเจลาตินจากธรรมชาติ เมื่อผ่านการปรุงอาหาร หรือนำมาทำอาหารเจ อาหารวีแกน หรือโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ เห็ดชนิดนี้จึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในยุคที่ผู้บริโภคทั่วโลกหันมาใส่ใจโปรตีนจากพืชและเห็ดมากขึ้น
เปิดสายพันธุ์ใหม่ “เห็ดแครงลูกผสม” ดอกสวย รสชาติดี ตอบโจทย์ตลาดสุขภาพ! โดย: ทีมวิจัยไบโอเทค สวทช.
จาก “เห็ดป่า” ทั่วไทย สู่ “เห็ดแครงลูกผสม” ที่มาพร้อมความอร่อยแบบพรีเมียม ดร.อัมพวา ปินเรือน นักวิจัยจากทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค สวทช. เล่าว่า โครงการวิจัยนี้เริ่มต้นจากการรวบรวมเห็ดแครงกว่า 121 สายพันธุ์จากชุมชนและสวนเกษตรกรทั่วประเทศ มาศึกษาในแล็บ ปรับปรุงพันธุ์ จนได้สายพันธุ์ที่ โตเร็ว รสชาติดี มีโปรตีนสูงกว่าเห็ดทั่วไปถึง 1.5 เท่า เพื่อเฟ้นหาสายพันธุ์ที่ดีที่สุดผ่านเทคนิค แยกสปอร์เดี่ยว (Single Spore Isolation ผลลัพธ์คือ “เห็ดแครงลูกผสม” ที่ดอกใหญ่ สีขาวนวลน่าทาน เนื้อไม่เหนียว ไม่ขม กลิ่นอ่อน ๆ จนแทบไม่มีกลิ่นเห็ด แถมยังให้ผลผลิตสูง ออกดอกไว และสม่ำเสมอ ที่สำคัญ... คงตัวทางพันธุกรรม ไม่กลายพันธุ์ง่าย
นอกจากจะปลูกง่ายและเหมาะกับแปรรูปแล้ว ยังตรงใจผู้บริโภคสายสุขภาพที่มองหาทางเลือกใหม่ในโปรตีนจากพืชอีกด้วย เห็ดแครงลูกผสมจากงานวิจัยนี้ อาจเป็นคำตอบของ "ฟาร์มเห็ดยุคใหม่" ที่ทั้งอร่อยและตอบโจทย์ตลาดสุขภาพในอนาคต
จากแล็บสู่ฟาร์ม
การต่อยอดสู่ภาคเกษตรกรรม กำลังเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของงานวิจัยนี้ โดยไบโอเทคจับมือกับกลุ่มเกษตรกร พร้อมส่งต่อองค์ความรู้สู่ชุมชน การพัฒนาไม่ได้จบแค่ในห้องวิจัย เพราะเป้าหมายคือ ให้เกษตรกรสามารถเพาะได้จริง จึงเกิดเป็นโมเดล “ฟาร์มเห็ดแครงอัจฉริยะ” ที่ใช้ระบบควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และแสง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่แน่นอน ไม่ผันผวนตามฤดูกาล นายบุญโชค ไทยทัตกุล เกษตรกรผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์เรียนรู้สวนเห็ดบ้านอรัญญิก เผยผลทดลองเพาะ เห็ดแครงสายพันธุ์ใหม่จากไบโอเทค ว่าให้ผลผลิตดี ดอกใหญ่ รสชาติดี ออกเร็วประมาณ 21 วัน เก็บเกี่ยวได้ถึง 3 รุ่น ลดต้นทุน เพิ่มกำไร ที่สำคัญต้องควบคุม “ความชื้นสัมพัทธ์” ให้สูงตลอดเวลาด้วยการพ่นหมอก-รดน้ำถี่ เพื่อให้เพาะได้ทั้งปี พร้อมย้ำในฐานะแพทย์แผนไทย “เห็ด คือ อาหารที่ดี ยาที่ดี และหมอที่ดี” สำหรับสุขภาพ
เห็ดแครง ขึ้นแท่นวัตถุดิบดาวรุ่งของโปรตีนทางเลือก
นายขวัญทอง ชุมนุมพร ผู้ผลิตอาหารแพลนต์เบส เผยศักยภาพ เห็ดแครงสายพันธุ์ใหม่ ว่าให้โปรตีนสูงกว่าหลายชนิดในกลุ่มเห็ด และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับพัฒนาสินค้าโปรตีนทางเลือก ล่าสุดได้ผสมเห็ดแครงกับเห็ดนางรมและมิลค์กี้ สร้างสรรค์เป็น “เนื้อหมูบดจากพืช” ที่ให้สัมผัสคล้ายเนื้อสัตว์ พร้อมต่อยอดเมนูแปลกใหม่ ทั้งห่อทอด ผัดกะเพรา คั่วกลิ้ง เบอร์เกอร์ จนถึงอาหารแช่แข็ง ช่วยเพิ่มมูลค่าเห็ดพื้นถิ่น และเปิดทางเลือกใหม่ให้ตลาดสุขภาพด้วยโปรตีนจากพืชที่อร่อยและมีคุณค่า ซึ่งทั้งหมดตอบโจทย์เทรนด์โลกเรื่อง อาหารยั่งยืน โปรตีนจากพืช และการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท
“เรื่องราวของเห็ดแครงไม่ใช่แค่อาหารจานหนึ่ง แต่คือภาพสะท้อนของ นวัตกรรมไทยที่เติบโตจากวัตถุดิบท้องถิ่น ไปสู่โอกาสระดับโลก ผ่านการออกแบบที่ผสมผสานวิทยาศาสตร์ ความยั่งยืน และวิถีชีวิตคนไทยไว้ในก้อนเห็ดเล็กๆ นี้อย่างน่าทึ่ง”
งานวิจัยนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับพืชพื้นถิ่นเท่านั้น แต่ยังตอกย้ำบทบาทของเทคโนโลยีชีวภาพในการ สร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และสร้างรายได้เสริมในท้องถิ่น โดยไม่ต้องพึ่งพาการเพาะเห็ดในธรรมชาติเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
“สำหรับแผนงานต่อยอด ทางคณะวิจัยจะเดินหน้าส่งเสริมและต่อยอดสายพันธุ์ลูกผสมเห็ดแครงนี้ โดยจะมีการขึ้นทะเบียนพันธุ์เห็ด ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังเกษตรกรผู้เพาะเห็ด รวมถึงส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และใช้เห็ดแครงเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่น่าสนใจ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” ดร.อัมพวา ปินเรือน นักวิจัยไบโอเทค กล่าวทิ้งท้าย