ENTEC เปิดบ้านโชว์นวัตกรรมพลังงาน ลุยต่อยอดวิจัยสู่ธุรกิจจริง ดันไทยสู่ยุคพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน

Last updated: 16 พ.ค. 2568  |  116 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ENTEC เปิดบ้านโชว์นวัตกรรมพลังงาน ลุยต่อยอดวิจัยสู่ธุรกิจจริง ดันไทยสู่ยุคพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน

ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ภายใต้ สวทช. จัดกิจกรรม “NSTDA x Press Interviews” เปิดบ้านต้อนรับสื่อมวลชน ณ อาคารวิจัยโยธี โชว์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านพลังงานที่พร้อมต่อยอดสู่การใช้งานจริง  ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีไฮโดรเจนชีวภาพ น้ำมันหล่อลื่นชีวภาพ “Eco-Pest” จากน้ำมันปาล์ม ไปจนถึง “Solar Sure” แพลตฟอร์มตรวจสอบแผงโซลาร์หมดอายุ และนวัตกรรมแบตเตอรี่รีไซเคิลรองรับรถ EV ที่ช่วยลดการนำเข้าและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไทย   โดยนำมาจัดแสดงต่อสื่อมวลชนได้ เห็นถึงศักยภาพของงานวิจัยที่มีความสำคัญต่อการสร้างเสริมระบบนิเวศด้านพลังงานไทย สร้างการยอมรับในมาตรฐานคุณภาพ และผลักดันสู่ความยั่งยืนด้านพลังงานของประเทศ


แล้ว ENTEC ทำอะไร

ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ หรือ “เอ็นเทค” ภายใต้ สวทช. ตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ในฐานะศูนย์เทคโนโลยีระดับชาติลำดับที่ 5 ของประเทศ โดยมีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนนำพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานของไทย

พันธกิจหลักของเอ็นเทค คือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานให้ทันสมัยและตอบโจทย์ยุทธศาสตร์พลังงานของชาติ พร้อมทั้งเชื่อมโยงงานวิจัยสู่การใช้จริง ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและชุมชน เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศ และเสริมสร้างระบบพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในระยะยาว

เอ็นเทคจึงไม่เพียงเป็นศูนย์วิจัยเท่านั้น แต่ยังเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการ "สร้าง" และ "เชื่อมโยง" นวัตกรรมพลังงานไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในยุคที่พลังงานโลกกำลังเปลี่ยนผ่าน.


ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการ ENTEC เน้นย้ำว่า ENTEC ไม่ได้หยุดแค่ในห้องทดลอง แต่เดินหน้าจับมือภาคอุตสาหกรรม-ชุมชน ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การใช้จริง เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ พร้อมตั้งเป้าผลักดันงานวิจัยให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ เพิ่มโอกาสธุรกิจ ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์โลกอนาคต ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และความมั่นคงทางพลังงานและปูทางให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานของภูมิภาคอย่างยั่งยืน.

มุ่งเน้นการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานเพื่อสนับสนุนแผนพลังงานชาติ เป็นกำลังสำคัญในการ 'สร้าง' และ 'เชื่อมโยง' นวัตกรรมพลังงานของประเทศไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการด้านเทคโนโลยีพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานของประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดความยั่งยืน”

ภายในงาน ทีมนักวิจัยได้นำเทคโนโลยีล้ำยุคมาจัดแสดงหลายด้าน ได้แก่


ด้านเทคโนโลยีเชื้อเพลิงสะอาดและการบูรณาการระบบ: เน้นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยเทคโนโลยีการผลิต "ไฮโดรเจนชีวภาพหรือไฮโดรเจนสีเขียว" ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาและต่อยอดสู่การใช้งานจริงร่วมกับภาคเอกชน รวมถึงความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและคมนาคมขนส่งให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น แนวทางประเมิน ASEAN Energy Resilience Assessment Guideline และการประเมินโซลาร์ฟาร์มบนระบบขนส่งสาธารณะ


ด้านนวัตกรรมโอเลโอเคมีภัณฑ์และเคมีภัณฑ์สีเขียว: เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน โดยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ด้วยผลงานอย่าง "Eco-Pest" สารเสริมประสิทธิภาพการเกษตรจากน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ที่ช่วยลดการใช้สารเคมี ปลอดภัยต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรม และ "น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานชีวภาพจากปาล์มน้ำมัน" ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้  ลดการนำเข้าปิโตรเลียม  และอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอดเพื่อประยุกต์ใช้งานที่หลากหลาย


ด้านเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์: สนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ต้นทุนต่ำลง ด้วยนวัตกรรมที่น่าสนใจ อาทิ "Solar Sure" แพลตฟอร์มตรวจสอบแผงโซลาร์เซลล์หมดอายุ ส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ (Second-life) ลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ และจัดการซากอย่างถูกวิธี ซึ่งอยู่ระหว่างสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) พิจารณากำหนดมาตรฐาน และ "SEESOLAR" โซลาร์เซลล์เพื่อการเกษตร ที่ลดรังสี UV-B และความร้อน แต่ยังให้การแผ่รังสีแสงสังเคราะห์ หรือแสง PAR ผ่านได้ดี  ช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดีและอาจมีสารสำคัญสูงขึ้น อีกทั้งผลิตไฟฟ้าสำหรับควบคุมสภาพแวดล้อมในโรงเรือน และเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนพลังงานให้ภาคเกษตรกรรม


ด้านนวัตกรรมห่วงโซ่คุณค่าของแบตเตอรี่: พัฒนาแบตเตอรี่รุ่นใหม่ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ ปลอดภัย อายุยาว   ผลักดันมาตรฐานแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนได้ (BattSwap) สำหรับ EV ขนาดเล็ก   สนับสนุนอุตสาหกรรม EV และความมั่นคงด้านพลังงาน ตอบโจทย์การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ ที่ทำให้ใช้พลังงานได้อย่างเสถียร โดย ENTEC มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาแบตเตอรี่แบบครบวงจร ทั้งกระบวนการรีไซเคิล และเป็นส่วนสำคัญในการผลักดัน "Thailand BattSwap" ภายใต้ Thailand Standard Swappable Battery Consortium เพื่อสร้างมาตรฐานกลางของแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนได้สำหรับ EV ขนาดเล็กทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA) และได้ริเริ่มพัฒนาแบตเตอรี่รุ่นใหม่ที่มีความจุสูง อายุการใช้งานยาวนาน และปลอดภัยสูง โดยใช้วัตถุดิบในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

ในอนาคต ENTEC ยังคงผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมด้านพลังงาน เช่น "ไฮโดรเจนชีวภาพ" หรือ "ไฮโดรเจนสีเขียว" สู่การใช้งานจริง โดยร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ และมุ่ง "สร้างผลกระทบเชิงบวก" ต่อระบบนิเวศนวัตกรรมพลังงานไทย พร้อมเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน.

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้