Last updated: 12 มิ.ย. 2567 | 750 จำนวนผู้เข้าชม |
รัฐบาลโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้จัดงานประชุมนานาชาติด้านซอฟต์พาวเวอร์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยนำเอาวัฒนธรรม และแรงบันดาลใจจาก 11 สาขาอุตสาหกรรม สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ผ่านทักษะทางวัฒนธรรมและสังคมอันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย เพื่อการเข้าสู่เวทีระดับสากล ภายใต้ชื่องาน THACCA SPLASH - Soft Power Forum 2024 กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น G ฮอลล์ 1 และ 2
โดยการจัดงานและประชาสัมพันธ์งานประชุมนานาชาติในครั้งนี้ มุ่งเน้นวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ได้แก่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านซอฟต์พาวเวอร์ ความเข้าใจต่อทิศทางการดำเนินการ และบทบาทในเวทีระดับสากล ประการถัดมา เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผู้ประกอบการด้านซอฟต์พาวเวอร์ รวมถึงส่งเสริมศักยภาพทางการแข่งขันผ่านการเชื่อมโยงความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ประการสุดท้าย เพื่อสนับสนุนกลไกในการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่มีบทบาทในการพัฒนา อีกทั้งส่งเสริมด้านซอฟต์พาวเวอร์ระหว่างประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดจนพันธมิตรนานาชาติเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสากล
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ นโยบาย Soft power จะเป็นหนึ่งในอาวุธสําคัญที่เราจะผลักดันให้ประเทศไทยยกระดับจากประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศ รายได้สูง เสน่ห์ของประเทศไทยจะยกระดับเม็ดเงินทั้งเรื่องการท่องเที่ยว เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจเทศกาล ไปจนถึง อุตสาหกรรมอาหาร การยกระดับฝีมือแรงงานทั้งระบบ เพราะครั้งนี้เรามองเป็นนภาพใหญ ไม่แยกกันทําเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด“
และได้เผยแนวคิดการจัดงาน THACCA SPLASH - Soft Power Forum 2024 สาดวัฒนธรรม ขับเคลื่อนสังคมไทย นำร่องเป็นสื่อกลางรวบรวมองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมสร้างสรรค์ทั้งในประเทศและทั่วโลก พร้อมกับ 4 โซนอันยิ่งใหญ่บนพื้นที่กว่า 11,230 ตารางเมตร ได้แก่
1. SPLASH Visionary Zone ประกอบด้วยเวทีแสดงศักยภาพทั้งด้านความสามารถ การแลกเปลี่ยนทัศนคติ ประสบการณ์ กรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ และความคิดเห็น เพื่อนำองค์ความรู้ไปขยายต่อยอด โดยจะมีเวทีทั้งหมด 4 เวที ได้แก่ Vision Stage, Pathway Stage, Performance Stage และ Splash Pod
2. นิทรรศการจากทักก้า (THACCA Pavilion) ที่จะนำเสนอทุกเป้าหมาย และแรงผลักดันที่ทักก้ากำลังจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยด้วย Soft Power และสิ่งที่ทักก้าจะทำให้ชีวิตคนไทยดีขึ้นแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
3. นิทรรศการจาก 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่จะนำเสนอศักยภาพด้าน Soft Power ของประเทศไทย และศักยภาพวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของคนไทย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตที่ต้องการให้โลกรับรู้ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเฟสติวัล ท่องเที่ยว อาหาร ออกแบบ ศิลปะ ภาพยนตร์ เพลง หนังสือ เกม แฟชั่น และกีฬา
4. International Pavilion ประกอบด้วย โอกาส และความสำเร็จของแต่ละประเทศจากนโยบายเกี่ยวกับวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น ประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอิตาลี
หนึ่งในไฮไลท์ของงาน อาทิ ตัวแทนจากอุตสาหกรรมเฟสติวัล ผู้จัดงาน S20 จากประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง ที่จะมาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองในการพาประเพณีสงกรานต์ไทยไปสู่ต่างประเทศ อีกทั้ง Hackathon กิจกรรมพิเศษสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย ส่งเสริมการระดมความคิดสร้างสรรค์ Hack Idea ไม่มีที่สิ้นสุด รับโจทย์ปัญหาสุดท้าทายจากอุตสาหกรรมภายในงาน
สำหรับงานนี้ เตรียมต้อนรับผู้เข้าร่วมงานจากหลากหลายฝ่ายทุกสารทิศ อาทิ หน่วยงานรัฐบาล หน่วยงานเอกชน ผู้ประกอบการ องค์กรที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนในการขับเคลื่อน 11 อุตสาหกรรมข้างต้น เปิดโอกาสการเชื่อมสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างองค์กร ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงานได้เอื้อต่อนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป เพื่อเป็นแหล่งรวมแรงบันดาลใจและความฝันเพื่อคนไทย ส่งเสริม และเพิ่มมูลค่าอัตลักษณ์ความเป็นไทย ผ่านวิถีชีวิตของผู้คน ต่อยอดอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเติบโตในระดับสากลอย่างภาคภูมิ