“เชอรี่-เข็มอัปสร” นำเปิดงานสุดฮอต ฟาสต์ แฟชั่น ช็อปล้างโลก

Last updated: 7 ส.ค. 2566  |  249 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“เชอรี่-เข็มอัปสร” นำเปิดงานสุดฮอต ฟาสต์ แฟชั่น ช็อปล้างโลก

สิ้นสุดการรอคอย! มิวเซียมสยามเปิดประเด็นสุด HOT (ฮอท) ด้วยนิทรรศการหมุนเวียนตัวใหม่ กับกระแสของแฟชั่นที่ว่าด้วยความเร็ว “Fast Fashion ช็อปล้างโลก" เริ่มที่ตัวเรา เปลี่ยนที่ตัวเรา คุณพร้อมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้หรือไม่?

นายพาฉัตร ทิพทัส ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม มิวเซียมสยาม (มิวเซียมสยาม) เป็นประธานเปิดงาน นิทรรศการหมุนเวียนประจำปี “Fast Fashion ช็อปล้างโลก” (ฟาสต์ แฟชั่น ช็อปล้างโลก) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ที่ห้องนิทรรศการชั่วคราว ชั้น 1 อาคารนิทรรศการ มิวเซียมสยาม ร่วมด้วย เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดง พิธีกร ชื่อดัง

มิวเซียมสยามไม่ได้ชวนคุณมา “ช็อป” แต่ชวนคุณมา “ช่วย” โลก กับ “มิวส์มอลล์” ที่จำลองหน้าร้านของแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นตามห้าง เพื่อให้คุณได้ตระหนักถึงพฤติกรรมช่างช็อปของพวกเรา เราจะชั่งน้ำหนักให้ความสำคัญกับอะไร ระหว่าง “เรา” หรือ “โลก” มาร่วมสร้างความตระหนักรู้ไปด้วยกัน กับนิทรรศการหมุนเวียนประจำปี “Fast Fashion ช็อปล้างโลก” สนุกกับเนื้อหาและกิจกรรมตลอดการจัดแสดง ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม - 3 ธันวาคม 2566 เปิดให้บริการ วันอังคาร-วันอาทิตย์เวลา 10.00-18.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์) ที่ ห้องนิทรรศการชั่วคราว ชั้น 1 อาคารนิทรรศการ มิวเซียมสยาม MRT สถานีสนามไชย (ทางออกที่1) ไม่เสียค่าใช้จ่าย !

นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) เปิดเผยว่า ในปีนี้ มิวเซียมสยาม จัดทำนิทรรศการหมุนเวียนเรื่อง “Fast Fashion ช็อปล้างโลก” ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้า แม้จะสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจมหาศาล แต่กระบวนการผลิต การใช้ที่เกินความจำเป็นมากกว่าการปกปิดร่างกาย ค่านิยมของการเเสดงสถานะทางสังคม กลับสร้างมลภาวะมากมายมหาศาลเกินกว่าปกติ เสื้อผ้าราว 39,000 ตัน ที่ไม่สามารถขายได้ทั่วโลก ต้องมาจบลงที่กองขยะเสื้อผ้าขนาดยักษ์ในทะเลทรายอาตากามา ประเทศชิลี เพราะไม่สามารถย่อยสลายเองได้ (Non-biodegradable) และยังมีสารเคมีตกค้างอยู่อีกมากมาย

นิทรรศการ “Fast Fashion ช็อปล้างโลก” (ฟาสต์ แฟชั่น ช็อปล้างโลก) จำลองหน้าร้าน “มิวส์มอลล์” ของแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นตามห้าง โดยแบ่งออกเป็น 2 โซน คือ โซนที่ 1 ห้องช็อปล้างโลก เพื่อให้คุณได้ตระหนักถึงพฤติกรรมช่างช็อปของพวกเรา จะชั่งน้ำหนักให้ความสำคัญกับอะไร ระหว่าง “เรา” หรือ “โลก” ผ่าน ตู้ตาชั่งกลางห้อง เราจะเลือกอะไร ระหว่างการแสดง “ตัวตน” ด้วยเสื้อผ้าสุดทันสมัย กับการช่วยลด “โลกร้อน” รักษาสิ่งแวดล้อมให้พวกเราได้อยู่กันอย่างสุขสบายต่อไป เราจะให้ค่า “โลก” ของเรา มากกว่าเสื้อผ้าสวยๆ ในตู้ ที่ใช้แสดงตัวตนของเราไหม ? ตาชั่งจะสมดุลที่ตรงไหน เราทุกคนมีส่วนในการกำหนดชะตากรรมนี้ร่วมกัน !

ทั้งนี้ยังมีการนำเสนอให้ผู้ชมได้เข้าใจถึง “Fast Fashion” (ฟาสต์ แฟชั่น) ก็คือ การผลิตในปริมาณมาก ในเวลาอันรวดเร็ว ขายในราคาถูก , อุตสาหกรรมแฟชั่น กับ “ภาวะโลกร้อน” คุณภาพของสินค้าและการกดขี่ค่าแรง และ พาไปรู้จาก ฝ้าย พืชสูบน้ำ ที่ซดน้ำมากถึง 93 พันล้าน ลบ.ม. /ปี หรือ โพลีเอสเตอร์ เส้นใยสังเคราะห์ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลอย่างไรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับโลก

โซนที่ 2 ห้อง Slow Fashion (สโลว์ แฟชั่น) ซ็อปช่วยโลก ที่อยากจะแนะนำและเสนอตัวเลือกที่จะช่วยโลกใบนี้ไปด้วยกัน เช่น ใช้เส้นใยธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติ กลายเป็นแฟชั่นที่ยั่งยืนได้ , ReWEAR การใส่เสื้อซ้ำ ใช่ทำเรื่องผิด #wearวนไป, RePAIR ต่อชีวิตใหม่ ให้กับเสื้อของคุณ ดีต่อโลก ดีต่อใจ , ZEROWaste ของเหลืออย่าทิ้ง การนำผ้าเหลือค้างสต็อกจากโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูป มาใช้ทำประโยชน์ต่อจึงเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด , คืนชีวิตใหม่ ให้กับเสื้อเก่า UpCycle , บริจาค – แบ่งปัน – ระดมทุน , ReCYCLE รีไซเคิล ยาก แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ ทั้งหมดนี้ผู้เข้าชมจะได้รู้จักกับผู้ประกอบการและแบรนด์ต่าง ๆ ที่ยังคอยช่วยกันรักษ์โลกนี้อาทิ FolkCharm , Karma.Local , Eaggamon เอกมล อรรถกมล, มอร์ลูป, Standard Archives (SXA) , Dry Clean Only, Renim, Farmer Rangers, Wishulada, แสงเจริญแกรนด์ SC Grand , Selvedgework , มูลนิธิโอกาสที่สองแห่งชีวิต และ มูลนิธิกระจกเงา

ภายในงานยังมีไฮไลท์กิจกรรมพิเศษที่พลาดไม่ได้ มาสนุกรักษ์โลกไปด้วยกันกับ งาน Slow Fashion Market (สโลว์ แฟชั่น มาร์เก็ต) ช็อปช่วยโลก คืนชีวิตให้เสื้อผ้ามือสอง เดินหน้ากับแฟชั่นที่ยั่งยืน พบกับผู้ประกอบร้านค้ากว่า 20 ร้าน ที่จะสามารถช็อปกันแบบช่วยโลกได้ และพบกับช่วงพูดคุยพิเศษ กับ เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดง พิธีกร นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่จะมา แนะนำเรี่องการนำเสื้อผ้าที่เหลือใช้จากอุตสาหกรรมแฟชั่นของ Moreloop ที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และนำมาจัดแสดงในนิทรรศการฯ, งานศิลปะจัดวางเฉพาะที่ (Site-specific Art Installation) เปลี่ยนขยะเสื้อผ้า ให้เป็นงานศิลปะ โดยศิลปิน Wishulada วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ กองขยะเสื้อผ้า กว่า 16 ตัน โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิกระจกเงามาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะในครั้งนี้ และ วัธ–จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ ทายาทรุ่น 3 ผู้บริหาร บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด (SC Grand) ได้มาแชร์เรื่องราวในฐานะผู้ประกอบการ แบรนด์สิ่งทอรีไซเคิลที่ส่งต่อแนวคิดรักษ์โลก

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้