Last updated: 19 พ.ค. 2566 | 433 จำนวนผู้เข้าชม |
สำนักงานสถิติฯ และ สวทช. เปิดผลการศึกษาทางสถิติด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้! สัญญาณบวกการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG
สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ในฐานะหัวหน้าที่ปรึกษาโครงการฯ จัดเวทีนำเสนอผลการศึกษา “โครงการบูรณาการเพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาสถิติทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG” ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริหาร BCG เพื่อติดตามผลดำเนินงานในประเด็นโมเดล BCG ต่อการบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ทั้งในระดับประเทศและใน 2 จังหวัดนำร่อง (จันทบุรี และราชบุรี) ผลศึกษาพบเศรษฐกิจ BCG เปรียบเทียบทั้ง 2 จังหวัดมีทิศทางการพัฒนาที่ดีขึ้น และความเหลื่อมล้ำทางรายได้ลดลง โดยพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ พร้อมด้วย ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวง อว. ในฐานะผู้วางหลักการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ BCG ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม หรือ BCG in action ให้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ BCG Economy Model : ความหวัง โอกาส และความท้าทาย
ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า โครงการบูรณาการเพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาสถิติทางการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการตามมติคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำหน้าที่ติดตามข้อมูล ผลลัพธ์ของการดำเนินงานตามแผน BCG ต่อการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของ SDG ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินโครงการฯ เพื่อจัดทำ (ร่าง) บัญชีสถิติทางการประเด็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มีความเกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยการติดตามผลการดำเนินงานโครงการฯ มี 2 ระดับ คือ
1) ระดับประเทศ พบว่า ภาพรวมมูลค่าเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทยปรับลดลง จาก 3.5 ล้านล้านบาท ในปี 2561 เหลือ 2.6 ล้านล้านบาท ในปี 2564 คนไทย 8.5 ล้านคนมีฐานะดีขึ้นเมื่อพิจารณาจากรายได้ต่อหัวที่สูงกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ระหว่างปี 2562 - 2564 และความเหลื่อมล้ำลดลง โดยความแตกต่างระหว่างค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนของกลุ่มประชากรที่มีฐานะเศรษฐกิจสูงสุด (10%) ต่อรายจ่าย ต่อคนต่อเดือนของกลุ่มที่มีฐานะต่ำสุด (40%) ปรับลดลงจาก 6.15 เท่าในปี 2560 เหลือ 5.68 เท่าในปี 2564 จำนวนผู้ที่ได้รับการพัฒนาทักษะ BCG สะสม ปี 2564 - 2565 รวมกันกว่า 6 แสนคน อย่างไรก็ตาม ยังพบประเด็นที่มีผลการดำเนินงานต่ำกว่าเป้าหมายซึ่งจำเป็นต้องเร่งพัฒนา ได้แก่ การลดใช้ทรัพยากร การเพิ่มพื้นที่ป่า การลดการนำเข้าเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพ
2) ระดับจังหวัด (2 จังหวัดนำร่อง) พบว่า จังหวัดจันทบุรีมีสัดส่วนของเศรษฐกิจ BCG สูงถึง 60% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) และจังหวัดราชบุรีมีสัดส่วนของเศรษฐกิจ BCG ประมาณ 30% ของ GPP ในภาพรวมทั้งสองจังหวัดมีทิศทางการพัฒนาที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่สำคัญและต้องพัฒนาเพิ่มเติม ได้แก่ ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการใช้ทรัพยากรโดยเฉพาะน้ำ
สำหรับการพัฒนาสินค้าเป้าหมายที่กำหนดโดยคณะกรรมการขับเคลื่อน BCG Model ของจังหวัด ประกอบไปด้วย สินค้าเป้าหมายของจังหวัดราชบุรี ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอม ทุเรียน มันสำปะหลัง สุกร และกุ้งก้ามกราม และสินค้าเป้าหมายของจังหวัดจันทบุรี ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และกุ้งขาว พบว่า สินค้าเป้าหมายของทั้งสองจังหวัดมีจุดเด่นที่คล้ายคลึงกัน คือเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนสูงต่อผลิตภัณฑ์จังหวัด เช่น ทุเรียนมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของ GPP ภาคเกษตร อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญคือ การพึ่งพาตลาดส่งออกโดยเฉพาะจีนที่อาจมีความผันผวนของราคาเหมือนกรณียางพารา รวมถึงการบริหารจัดการเพื่อเป้าหมาย Zero Waste เช่น ทุเรียนมีสัดส่วนเปลือกสูงถึง 75% ของน้ำหนักผลสด ซึ่งส่วนนี้ต้องการนวัตกรรมมาแก้ปัญหา หรือการบริหารจัดการน้ำที่ต้องพัฒนาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้การบริหารจัดการปริมาณน้ำ ป้องกันปัญหาการแย่งชิงน้ำในช่วงฤดูแล้ง
นอกจากนั้น ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวง อว. ในฐานะผู้วางหลักการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ BCG ยังกล่าวถึงความหวัง โอกาสและความท้าทาย ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อให้บรรลเป้าหมายในการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ด้าน ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า สวทช. มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยไบโอเทคมีการดำเนินการภายใต้แนวคิดหลักของจตุภาคี ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน ตัวอย่างเช่น การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเกษตรแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area based) ในพื้นที่นำร่องจังหวัดราชบุรี ด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใช้เพื่อการยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้กับมะพร้าวน้ำหอมซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัด มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อการผลิตอาหารที่ปลอดภัย การพัฒนาวัคซีนเพื่อแก้ปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกา มีความร่วมมือในการดำเนินงานกับกรมประมงและมหาวิทยาลัยบูรพาในการพัฒนาเชื้อจุลินทรีย์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงกุ้งทะเลให้เกิดความยั่งยืน
นอกจากนี้ ไบโอเทคยังมีการดำเนินงานในส่วนของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยข้าวเหนียวตาม BCG Model ในลักษณะการทำงานครบวงจรทั้งการเพิ่มผลผลิตข้าว การแปรรูปข้าว รวมถึงการใช้ประโยชน์ฟางข้าว การสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตทางการเกษตรรวมถึงเศษวัสดุทางการเกษตรที่มีอยู่มาก พัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่มีความเป็นมิตรต่อส่งแวดล้อม ขณะที่ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหาร ไบโอเทคได้เน้นการพัฒนาอาหารเพื่ออนาคต เช่น โปรตีนทางเลือก ตลอดจนยังร่วมมือกับมูลนิธิ Scholars of Sustenance Foundation (SOS Thailand) ในการพัฒนาธนาคารเพื่อส่งมอบอาหารส่วนเกินไปยังกลุ่มผู้เปราะบางด้วย