" ชวนเที่ยว ชวนชิม! ททท. ดันซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทย ในเวทีเสวนา ผ่านรสชาติคู่มือมิชลิน ไกด์ สู่เวทีโลก"ย้ำ Gastronomy Tourism ที่เติบโตอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง

Last updated: 27 เม.ย 2568  |  42 จำนวนผู้เข้าชม  | 

" ชวนเที่ยว ชวนชิม! ททท. ดันซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทย ในเวทีเสวนา ผ่านรสชาติคู่มือมิชลิน ไกด์ สู่เวทีโลก"ย้ำ Gastronomy Tourism ที่เติบโตอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดเวทีเสวนา “เส้นทางสู่ความเป็นเลิศของอาหารไทยผ่านคู่มือ มิชลิน ไกด์” ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ ตอกย้ำบทบาทอาหารไทยในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ที่แข็งแกร่งของประเทศ หลังเดินหน้าส่งเสริม Gastronomy Tourism อย่างต่อเนื่องถึง 8 ปี ตั้งแต่การเปิดตัวคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ในประเทศไทย


ข้อมูลจาก ททท. ระบุว่า ภาพลักษณ์ด้านอาหารของไทยพุ่งแรงต่อเนื่อง กรุงเทพฯ ครองอันดับ 2 เมืองอาหารยอดเยี่ยมของโลกปี 2568 ตามการจัดอันดับของนิตยสาร Time Out อีกทั้งจังหวัดภูเก็ตและเพชรบุรี ยังได้รับการยกย่องเป็น "เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร" โดยยูเนสโก ตอกย้ำศักยภาพการเติบโตของไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางด้านอาหารระดับโลกอย่างยั่งยืน


นางสาวฐาปนีย์  เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า "ความร่วมมือกับมิชลินตลอด 8 ปีที่ผ่านมาได้ช่วยยกระดับวงการอาหารไทยและการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างเป็นรูปธรรม จากการเริ่มต้นแนะนำร้านอาหารในกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2561 ซึ่งมีร้านอาหารในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ เพียง 98 ร้าน ปัจจุบันคู่มือเล่มล่าสุดปี 2568 มีจำนวนถึง 462 ร้าน ครอบคลุม 11 พื้นที่ทั่วทุกภูมิภาค และที่สำคัญในปี 2568 นี้ ร้านศรณ์ โดยเชฟไอซ์ ศุภักษร จงศิริ ได้รับสามดาวมิชลินเป็นร้านแรกในประเทศไทยและเป็นร้านอาหารไทยร้านแรกของโลก นับเป็นความภาคภูมิใจครั้งสำคัญของวงการอาหารไทย"

การเข้ามาของคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 ได้ส่งผลให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ของประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากผลการประเมินภาพลักษณ์การท่องเที่ยวด้านอาหารประจำปี 2567 โดยบริษัท เคเนติกส์ คอนซัลติ้ง จำกัด พบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติมองประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่มีภาพลักษณ์เป็น “แหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหารที่โดดเด่น” ในระดับ 53% เพิ่มขึ้นจาก 44% ในปี 2566 ครองอันดับ 2 รองจากประเทศญี่ปุ่น


ไฮไลท์ของงานคือการรวมตัวของเชฟมิชลินชื่อดัง อาทิ เชฟไอซ์ (ร้านศรณ์ สามดาวมิชลิน) เชฟอู๋ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยภาคใต้ ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการค้นพบวัตถุดิบท้องถิ่นภาคใต้ที่เริ่มสูญหายด้วยการเดินทางไปเลือกวัตถุดิบในพื้นที่ด้วยตัวเอง และนำมาประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับเทคนิคปรุงอาหารที่ทันสมัยกลายเป็นเมนูสุดพิเศษเสิร์ฟในแบบอาหารใต้ไฟน์ไดนิงที่สามารถยกระดับอาหารไทยไปสู่ระดับโลก  (ร้านอัคคี หนึ่งดาวมิชลิน) และเชฟหนุ่ม (ร้านซาหมวยแอนด์ซันส์ บิบ กูร์มองด์) ถ่ายทอดประสบการณ์ยกระดับวัตถุดิบพื้นถิ่นสู่เวทีโลก พร้อมเผยเทคนิคเล่าเรื่องราววัฒนธรรมผ่านเมนูอาหาร

ภายในงานเสวนา เชฟจากร้านอาหารที่ได้รับการแนะนำโดยคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ที่เข้าร่วมยังได้กล่าวถึงแนวทางของแต่ละร้านที่ล้วนยกระดับการใช้วัตถุดิบพื้นบ้านนำไปสู่อาหารติดดาวมิชลินระดับโลก โดยเชฟไอซ์ จากร้านศรณ์ ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยภาคใต้ ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการค้นพบวัตถุดิบท้องถิ่นภาคใต้ที่เริ่มสูญหายด้วยการเดินทางไปเลือกวัตถุดิบในพื้นที่ด้วยตัวเอง และนำมาประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับเทคนิคปรุงอาหารที่ทันสมัยกลายเป็นเมนูสุดพิเศษเสิร์ฟในแบบอาหารใต้ไฟน์ไดนิงที่สามารถยกระดับอาหารไทยไปสู่ระดับโลก เชฟอู๋ จากร้านอัคคี มีความสนใจในการเฟ้นหาวัตถุดิบจากแหล่งโดยตรงของเกษตรกรในแต่ละท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย จนกว่าจะรวบรวมวัตถุดิบได้ครบก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาพอสมควร นำมาปรุงและปลุกชีวิตสูตรอาหารโบราณหยิบมาเล่าให้คนทั่วโลกได้เห็นวัฒนธรรมอาหารไทยในรูปแบบสำรับอาหารให้น่าสนใจ รวมถึง เชฟหนุ่ม จากร้านซาหมวยแอนด์ซันส์ นำเสนอมุมมองอาหารอีสานที่มีมากกว่าส้มตำไก่ย่างตามที่คนส่วนใหญ่รู้จัก โดยจะนำวัตถุดิบจากตลาดพื้นบ้านตามฤดูกาล ฟาร์มออร์แกนิก มานำเสนอด้วยเทคนิคการปรุงที่ชูคุณสมบัติทางอาหารและยาของเครื่องปรุงแต่ละชนิด ด้วยรูปแบบอาหารอีสานสมัยใหม่ที่อร่อย สวยงาม และมีคุณค่าทางโภชนาการ


สำหรับภาพลักษณ์ด้านอาหารของไทยในระดับนานาชาติ พบว่าประเทศไทยได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาทิ นิตยสารชื่อดัง Time Out ได้จัดอันดับให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองอาหารที่ดีที่สุดอันดับ 2 ของโลกประจำปี 2568 รองจากเมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนาของสหรัฐอเมริกา โดย Time Out เผยว่ากรุงเทพฯ มีอาหารคุณภาพหลากหลายรูปแบบทั้งอาหารไฟน์ไดนิงที่สร้างประสบการณ์อันน่าจดจำและอาหารสตรีตฟู้ดราคาไม่ถึง 100 บาทที่ให้ประสบการณ์ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังขึ้นชื่อเรื่องมรดกวัฒนธรรมด้านอาหารที่หลากหลายและโดดเด่นในหลายจังหวัดนอกเหนือจากกรุงเทพฯ โดยเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network: UCCN) ยังได้ขึ้นทะเบียนให้จังหวัดภูเก็ต (ปี 2558) และจังหวัดเพชรบุรี (ปี 2564) เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (City of Gastronomy) โดยยกย่องวัตถุดิบท้องถิ่นอันล้ำค่าและสูตรอาหารแบบดั้งเดิมของชุมชน ซึ่งทางจังหวัดภูเก็ตสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจท้องถิ่นจากอาหารได้กว่า 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี 

ททท. เล็งเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อช่วยกันยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของวงการอาหารไทย โดยมั่นใจว่าประเทศไทยจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในฐานะจุดหมายปลายทางด้านอาหารชั้นนำของโลก และสามารถสร้างประสบการณ์ด้านอาหารที่มีเอกลักษณ์และน่าประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกอย่างยั่งยืนต่อไป

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้