“เออาร์วี - เบดร็อค” พลิกโฉมสร้างสมาร์ทซิตี้ทั่วไทย ด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง “ซีดีดีพี”

Last updated: 28 ธ.ค. 2566  |  127 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“เออาร์วี - เบดร็อค” พลิกโฉมสร้างสมาร์ทซิตี้ทั่วไทย ด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง “ซีดีดีพี”

เบดร็อค (BEDROCK) ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลและการให้บริการแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้ง หนึ่งในธุรกิจย่อยของ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี (ARV) พัฒนา “แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง” (City Digital Data Platform: CDDP) รุกช่วยองค์กรท้องถิ่น แก้ปัญหาใหญ่ 3 ด้าน ‘การจัดเก็บรวบรวมข้อมูล-การขาดการเชื่อมต่อข้อมูล-เทคโนโลยีไม่ตอบโจทย์ปัญหาจริงและไม่ทันสมัย’ โดยนำร่องใช้เทคโนโลยี CDDP พัฒนาการวางผังเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ของไทยสู่เมืองอัจฉริยะ พร้อมชูผลสำเร็จ ยกระดับ ‘เมืองเทศบาลยะลา’ คว้ารางวัลท้องถิ่นดิจิทัล ประจำปี 2566 โดยปีหน้าตั้งเป้าเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับท้องถิ่นกว่า 1,000 แห่ง ทั่วประเทศ


นายวีรวัฒน์ รัตนวราหะ ผู้ร่วมจัดตั้ง บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด หรือ เบดร็อค (BEDROCK) ภายใต้การกำกับดูแลของ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี (ARV) ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลและการให้บริการแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ (AI) และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้ง กล่าวว่า ในช่วงต้นปี 2566 เบดร็อค (BEDROCK) มีการลงพื้นที่สำรวจการวางผังเมือง และเข้าไปทำความร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นหลายแห่งของจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ เช่น ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยะลา สงขลา นครศรีธรรมราช ทำให้พบปัญหาที่เห็นได้ชัดคือ ปัจจุบันองค์กรท้องถิ่นของไทย กำลังประสบปัญหาหลักๆ
3 ด้าน คือ 1. ด้านการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูล ทำให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลภายในพื้นที่ของตนเองไม่เต็มที่  2. ด้านการขาดการเชื่อมต่อข้อมูล ส่งผลให้ไม่เกิดการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ 3. ด้านเทคโนโลยีที่ไม่ตอบโจทย์ปัญหาจริงและไม่ทันสมัย แม้มีหลายท้องถิ่นในประเทศไทยลงทุนนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มาก แต่เทคโนโลยีเหล่านั้นยังไม่ตอบโจทย์และไม่สามารถสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้อย่างเต็มกำลัง เสมือนมีเทคโนโลยีที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ อีกทั้งยังมีท้องถิ่นอีกหลายพื้นที่ ที่ยังจัดเก็บข้อมูลที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการเมืองลงบนแผ่นกระดาษ


“จากปัญหาเหล่านี้จะเห็นได้ชัดว่าการใช้งานข้อมูลเหล่านี้ทำได้ยาก ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น จึงไม่สามารถใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์และตัดสินใจสำหรับการตอบสนองการบริการประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จึงทำให้ เบดร็อค (BEDROCK) มีความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของท้องถิ่น โดยเร่งเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับท้องถิ่นทั่วประเทศเพื่อปูโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลดิจิทัลและเทคโนโลยี รวมถึงนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยต่อยอดพัฒนา เพิ่มศักยภาพและความเข้มแข็งให้ท้องถิ่นซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศผ่านการพัฒนา “แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง” หรือ City Digital Data Platform หรือเรียกสั้นๆ ว่า CDDP (ซีดีดีพี) ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการด้าน Big Data ของท้องถิ่น เพื่อการบริหารจัดการเมืองและช่วยเหลือดูแลประชาชนบนฐานของการมีข้อมูลเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์ วางแผน และตัดสินใจ”

นายวีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า จุดเด่นของแพลตฟอร์ม CDDP คือ การใช้ข้อมูลเชิงที่ตั้งและระดับครัวเรือน จึงทำให้ท้องถิ่นสามารถจัดบริการแก่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างครอบคลุม รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ตรงความต้องการ อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบัน เบดร็อค (BEDROCK) ได้ร่วมพัฒนาและให้บริการแพลตฟอร์มนี้กับท้องถิ่นกว่า 70 แห่ง ทั่วประเทศ ครอบคลุมข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ ข้อมูลผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบางทางสังคม และยังมีเรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อรองรับสถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆ เช่น การวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย การเข้าถึงของรถดับเพลิงในพื้นที่ต่างๆ ของเมือง รวมถึงเรื่องโรคระบาด เป็นต้น
นอกจากนี้ แพลตฟอร์ม CDDP ยังสามารถรองรับการเชื่อมโยงกับอุปกรณ์ IoT sensor ที่เกี่ยวกับเมืองและคุณภาพชีวิตประชาชน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเชื่อมต่อกับกล้อง CCTV เพื่อดูความปลอดภัย และความเรียบร้อยของเมือง การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ชุดตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ สำหรับกลุ่ม อสม.ที่ใช้ในการเข้าเยี่ยมประชาชน ซึ่ง เบดร็อค (BEDROCK) จะพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลนี้ให้ดียิ่งขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาระบบการแจ้งเตือนเหตุการณ์สำคัญต่างๆ สำหรับประชาชนและเจ้าหน้าที่ เช่น การแจ้งเตือนภัยพิบัติ การแจ้งเกี่ยวกับใบอนุญาตหมดอายุที่จะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการได้
“หนึ่งในตัวอย่างผลสำเร็จที่เบดร็อคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งคือ “เทศบาลนครยะลา” ที่ได้รับรางวัลท้องถิ่นดิจิทัล ประเภทยอดเยี่ยม จากผลงานนวัตกรรมท้องถิ่นดิจิทัลเรื่อง Big Data เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการ หลังจากที่ทางเบดร็อคได้เข้าร่วมพัฒนากับเทศบาลนครยะลาอย่างใกล้ชิด เริ่มตั้งแต่งานสำรวจข้อมูลเมือง โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) ในการเก็บภาพถ่ายทางอากาศ และการใช้รถ Mobile Mapping System (MMS) เพื่อเก็บข้อมูลภาคพื้นดิน รวมถึงการจัดการข้อมูลภายในที่สำคัญให้เป็นมาตรฐาน หรือ Data standardization จากนั้นจึงพัฒนาแพลตฟอร์ม CDDP เพื่อรองรับข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานที่รวบรวม จัดเก็บ และแสดงผลข้อมูลสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่างๆ ของเมือง ให้สอดรับกับการเจริญเติบโตของชุมชน สังคม และประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป และรอผลอนุมัติในรูปแบบออนไลน์ และระบบภาษีอัจฉริยะอีกด้วย” นอกเหนือจากแพลตฟอร์ม CDDP แล้ว เบดร็อค ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน AI อีกหลายกลุ่ม เข้าไปช่วยพัฒนาเมืองและแก้ปัญหาต่างๆ อาทิ 1. นำเทคโนโลยี AI มาพัฒนาต่อยอดเป็น Signboard analysis เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการจัดเก็บภาษีป้ายให้ได้ครบถ้วนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 2. นำเทคโนโลยี AI มาพัฒนาต่อยอดเป็น Land Tax Change Detection เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการจัดเก็บภาษี ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ได้ครบถ้วนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 3. นำเทคโนโลยี AI OCR มาพัฒนาต่อยอดแก้ปัญหาเรื่องการตรวจสอบเอกสารและแยกประเภทเอกสารในกระบวนการขออนุญาตก่อสร้าง 4. นำเทคโนโลยี AI มาพัฒนาต่อยอดใน Use case AI asset Detection ข้อมูลจากการสำรวจ ช่วยให้ทราบจำนวนและประเภทของทรัพย์สินที่แต่ละท้องถิ่นดูแลเพื่อนำไปบริหารจัดการต่อได้โดยง่าย และ 5. นำเทคโนโลยี AI มาพัฒนาต่อยอดใน Use case Road Crack Detection ข้อมูลจากการสำรวจช่วยให้ทราบเรื่องการชำรุดของถนน เพื่อนำไปบริหารจัดการและวางแผนดูแลบำรุงรักษาต่อไป


“ภายในปีหน้า เบดร็อค ตั้งเป้าจะเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับท้องถิ่นทั่วประเทศไทยให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคกว่า 1,000 แห่ง พร้อมทั้งผนึกกำลังพันธมิตรในระดับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาค หรือกลุ่มผู้พัฒนาเมือง เพื่อพัฒนาท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านดิจิทัลให้แก่บุคลากรท้องถิ่น อีกทั้งเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี ข้อมูล และ AI จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นสามารถตัดสินใจหรือดำเนินงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในท้องถิ่นทุกภาคส่วน และสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน เมืองน่าอยู่ที่ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพ” นายวีรวัฒน์ กล่าวสรุป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้