"ทีเส็บ" รุกตลาดไมซ์ในประเทศ ชูแนวคิด “มิติไมซ์ มิติใหม่ ไมซ์ดีดีที่เมืองไทย”

Last updated: 12 มิ.ย. 2566  |  614 จำนวนผู้เข้าชม  | 

"ทีเส็บ" รุกตลาดไมซ์ในประเทศ ชูแนวคิด “มิติไมซ์ มิติใหม่ ไมซ์ดีดีที่เมืองไทย”

"ทีเส็บ" เปิดทัพผู้บริหารเดินหน้าแผนผลักดันตลาดไมซ์ในประเทศ ขับเคลื่อนด้วยแนวคิด “มิติไมซ์ มิติใหม่ ไมซ์ดีดีที่เมืองไทย” ยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ เสริมความแข็งแกร่งเศรษฐกิจระดับฐานรากอย่างยั่งยืน คาดการณ์สิ้นปี 2566 มีนักเดินทางไมซ์ในประเทศกว่า 17.79 ล้านคน หวังสร้างรายได้ 59,000 ล้านบาท

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการปักหมุดหมายให้อุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ รวมทั้งเป็นการเพิ่มบทบาทหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างงานสร้างรายได้ควบคู่ไปกับงานไมซ์และนักเดินทางหลักจากต่างประเทศ ทีเส็บเล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศที่มีอัตราการเติบโตของนักเดินทางไมซ์ไทยสูงขึ้นต่อเนื่อง 5 % เพราะฉะนั้นทางทีเส็บได้รวบรวมตัวเลขและงานวิจัยทางสถิติ พบว่า ในช่วง 3 ปีก่อนเกิดโควิดมีตัวเลขที่น่าสนใจที่แสดงให้เห็นว่านักเดินทางไมซ์ในประเทศอยู่ในระดับที่สูงกว่ารายได้จากไมซ์ต่างประเทศโดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2560 - 2562 โดยมีแนวโน้มการขยายการจัดงานไมซ์ของหน่วยงานองค์กร รวมถึงการเดินทางของนักเดินทางไมซ์กระจายไปยังภูมิภาคทั่วประเทศ ทีเส็บพร้อมเดินหน้าปรับทัพชูแผนบูรณาการผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศปีนี้ ภายใต้แนวคิด “มิติไมซ์ มิติใหม่ ไมซ์ดีดีที่เมืองไทย” เพื่อสร้างเครือข่ายขยายโอกาสทางการตลาด และสนับสนุนการทำงานร่วมกันสู่ความสำเร็จ โดยกำหนดโครงสร้างฝ่ายงานส่งเสริมไมซ์ในประเทศ 360 องศา ตอบโจทย์ทั้งการพัฒนาสินค้าบริการ พื้นที่ สถานที่จัดงาน ผู้ประกอบการ ชุมชน และเครือข่ายในพื้นที่ รวมถึงการโปรโมตพัฒนาแคมเปญส่งเสริมการตลาดและการขาย การให้สนับสนุน รวมถึงการสื่อสารการตลาดครบวงจร

แผนงานสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ คือ 1. ขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจไมซ์อย่างเป็นรูปธรรมที่วัดผลได้ (Growth Promoter) ผ่านการใช้นวัตกรรมและแพลตฟอร์มใหม่ รวมถึงการสร้างโมเดลความก้าวหน้าเพื่ออุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน 2. สร้างความร่วมมือทางธุรกิจของประเทศไทยและนานาชาติ (Business Connector) ผ่านเครือข่ายคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์เพื่อเศรษฐกิจไทยและนานาชาติ 3. การสนับสนุนบ่มเพาะธุรกิจไมซ์แบบ 360 องศา (Industry Nurturer) เพื่อสร้างอนาคตของอุตสาหกรรมไมซ์และสร้างแผนแม่บทใหม่ 4. เพิ่มคุณค่าระยะยาวของเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจไมซ์ (Ecosystem Architecture) สร้างความยั่งยืนให้พื้นที่ ซึ่งจะดำเนินการผ่านกลยุทธ์ “3ส” สร้าง เสริม สนับสนุน

"กลยุทธ์ สร้าง" เครือข่ายพันธมิตรดึงงานไมซ์ระดับโลก ส่งเสริมธุรกิจไมซ์ในพื้นที่ เช่น การจัดงาน EEC Cluster Fair 2023 ระหว่างวันที่ 6-8 กันยายน 2566 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุช พัทยา หรือ การดึงงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ที่จะจัดขึ้น ณ หนองแด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

"กลยุทธ์ เสริม" ความแข็งแกร่งและขยายตัวของอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ ด้วยโครงการ Empower Thailand Exhibition หรือ EMTEX เพื่อสร้างการเติบโตให้กับงานแสดงสินค้าในประเทศ ตอบโจทย์การจัดงานอย่างยั่งยืน ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อยอดการจัดงานไมซ์ เช่น การยกระดับงาน Fruit Innovation Fair ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าเกษตรและผลไม้แสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแปรรูปที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคตะวันออก ซึ่งงานนี้มีมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 3,000 ล้านบาท และงาน Agro Fex งานแสดงสินค้าเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านอาหารและการเกษตร

"กลยุทธ์ สนับสนุน" ผลักดันงานแสดงสินค้าสู่ระดับอินเตอร์ผ่านโครงการ Exhibition-InterReady โดยสนับสนุนการยกระดับงานแสดงสินค้าให้เป็นระดับนานาชาติ ซึ่งในปีหน้าจะมีการพัฒนา 2 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next Generation Automotive) และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food For Future)

ทั้งนี้ ทีเส็บยังมุ่งเน้นไปยังตลาดการประชุมนานาชาติ (Convention) และงานแสดงสินค้า (Exhibition) ซึ่งขณะนี้มีงานประชุมวิชาการไทยทั่วประเทศ (Domestic Convention) ได้รับการสนับสนุนจากทีเส็บจำนวน 38 งาน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจถึง 380 ล้านบาท มีจำนวนผู้เข้าร่วมงาน 30,351 คน นอกจากนี้ งานแสดงสินค้าไทย (Domestic Exhibition) จำนวน 18 งาน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจถึง 180 ล้านบาท ก่อให้เกิดมูลค่าจากการเจรจาธุรกิจถึง 7,500 ล้านบาท มีจำนวนผู้เข้าร่วมงานกว่า 400,000 คนกระจายทั่วประเทศ

นายจิรุตถ์ กล่าวต่อไปว่า ทีเส็บยังมีสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง/ตะวันออก/ตะวันตก และภาคใต้ เริ่มจาก "ไมซ์ภาคเหนือ" ปัจจุบันมีโครงการเด่นที่กำลังมุ่งผลักดันภาคเหนือตอนบนให้เป็นจุดหมายปลายทางการจัดงานประชุมทางด้านชาและกาแฟระดับนานาชาติ เช่น เชียงใหม่ และเชียงราย โดยอาศัยจุดเด่นทางภูมิศาสตร์ที่เป็นแหล่งเพาะปลูกชาและกาแฟชั้นเลิศ

"ไมซ์ภาคอีสาน" ด้วยเอกลักษณ์สีสันที่ไม่เหมือนใคร เปิดเส้นทางสายไมซ์ใหม่ “Experience the Magic of ISAN MICE Routing” โดยปี 2566 ได้สร้างเส้นทางไมซ์ใหม่อีก 4 เส้นทาง ในจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา และอุบลราชธานี โดยเน้นเส้นทาง “อีสานไมซ์ ไร้คาร์บอน” (ISAN MICE Neutral Carbon Routing) จัดทำเป็นโปรแกรมการเดินทางไมซ์ 3 วัน 2 คืน ซึ่งตลอดทริปเดินทางจะมีการวัดค่าการปล่อยคาร์บอน เพื่อคำนวณหาจำนวนการปล่อยคาร์บอนต่อคนต่อทริป

"ไมซ์ภาคกลาง" ในฐานะศูนย์กลางการจัดงานไมซ์ระดับนานาชาติของประเทศ มีงานใหญ่เตรียมจัดงานมากมาย อาทิ งาน GMS Logistic ที่เสริมประสิทธิภาพการเชื่อมโยงโลจิสติกส์ด้านการท่องเที่ยวและไมซ์ผ่านระเบียงเศรษฐกิจ ภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายน 2566 งาน CVTEC MICE Business Roadshow 2023 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 กรกฎาคม 2566 เส้นทางภาคตะวันออก โดยนำผู้บริหารและผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและไมซ์จากเวียดนามและกัมพูชาเยี่ยมชมความพร้อมของพื้นที่ พบปะผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและไมซ์ 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด งาน EEC Cluster Fair ร่วมกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-9 กันยายน 2566 เป็นต้น

"ไมซ์ภาคใต้" นอกจากการดึงงานระดับโลกสำคัญ คือ การเสนอตัวประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ Expo 2028 Phuket Thailand จังหวัดภูเก็ต ที่เตรียมประกาศผลในวันที่ 21 มิถุนายนนี้แล้ว ยังเตรียมจัดงาน MICE Bazaar ครั้งที่ 2 เปิดเวทีซื้อขายสินค้าบริการของอุตสาหกรรมไมซ์ ให้ผู้ซื้อผู้ขายได้เจรจาธุรกิจที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในเดือนกันยายนนี้ พร้อมชูอัตลักษณ์ภาคใต้กับโครงการพัฒนาสินค้าและบริการของอุตสาหกรรมเรือสำราญและอาหารพื้นถิ่นผ่านงานไมซ์ภูมิภาคใต้ เป็นต้น

นายจิรุตถ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “มิติใหม่อุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ มีส่วนสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจฐานราก ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ผลการดำเนินงานอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศครึ่งปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 - มีนาคม 2566) มีจำนวนนักเดินทางไมซ์ในประเทศจำนวน 10,974,350 คน สร้างรายได้ 25,016 ล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าสิ้นปีงบประมาณ 2566 นี้ (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566) จะมีนักเดินทางไมซ์ในประเทศรวม 17,790,000 คน สร้างรายได้ 59,000 ล้านบาท”


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้