"กรมโรงงานอุตสาหกรรม" ระดมความเห็นแนวทางพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเป้าหมาย

Last updated: 3 มี.ค. 2566  |  248 จำนวนผู้เข้าชม  | 

"กรมโรงงานอุตสาหกรรม" ระดมความเห็นแนวทางพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเป้าหมาย

กรมโรงงานอุตสาหกรรม ระดมความเห็นแนวทางพัฒนาเขตประกอบการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ชี้เตรียมพร้อมสำหรับลงทุนหลังเศรษฐกิจฟื้นตัว

กองส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตและพื้นที่อุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผนึกหน่วยงานภาครัฐ – เอกชนที่เกี่ยวข้อง ระดมความคิดเห็นแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาเขตประกอบการอุตสาหกรรม ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ตามนโยบายและแผนพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย และแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ในโครงการวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยระบบ GIS (ภายใต้ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุน) โดยมีที่ปรึกษาบริษัท ฟิกท์ แอสโซซิเอท จำกัด ดำเนินการพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS Application) ในพื้นที่ 5 จังหวัด 8 เขตประกอบการอุตสาหกรรมนำร่อง พร้อมมุ่งเดินหน้าศึกษาต่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

นายวีรพงษ์ เอี่ยมเจริญ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 - 2580 ในยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ประกอบกับนโยบายด้านการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค นโยบาย อก. ด้านการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ (Investment Promotion) เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันธุรกิจอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงต้องเตรียมความพร้อมในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมทั่วประเทศไทย โดยได้ริเริ่มจัดทำโครงการศึกษาต่าง ๆ ในพื้นที่อุตสาหกรรมเป้ามหาย และเขตประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อประเมินและวิเคราะห์ศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมไทย ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นายวิษณุ อิสระธานันท์ ประธานโครงการวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยระบบ GIS (ภายใต้ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุน) กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยกองส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตและพื้นที่อุตสาหกรรม ได้ร่วมกับ บริษัท ฟิกท์ แอสโซซิเอท จำกัด ในการศึกษา “โครงการวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยระบบ GIS (ภายใต้ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุน) ในพื้นที่ 5 จังหวัดเป้าหมาย 8 เขตประกอบการอุตสาหกรรม ประกอบด้วย
1. เขตประกอบการอุตสาหกรรมสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดระยอง
2. เขตประกอบการอุตสาหกรรมเครือซีเมนต์ไทย จังหวัดระยอง
3. เขตประกอบการอุตสาหกรรมสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
4. เขตประกอบการอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
5. เขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยซัมมิท จังหวัดสมุทรปราการ
6. เขตประกอบการอุตสาหกรรม แอล พีเอ็น จังหวัดสมุทรปราการ
7. เขตประกอบการอุตสาหกรรมซันโย จังหวัดฉะเชิงเทรา
8. เขตประกอบการอุตสาหกรรมทีพีไอโพลีน จังหวัดสระบุรี

เพื่อศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของเขตประกอบการอุตสาหกรรม ในการที่จะขยายพื้นที่เพิ่มเติม หรือการขยายประเภทอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริมสนับสนุนเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ตลอดจนแนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อันสอดคล้องการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) การยืนยันแนวเขตประกอบการอุตสาหกรรมตามที่ได้รับการประกาศ โดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และจัดเก็บข้อมูลตำแหน่งโรงงานที่ตั้งในเขตประกอบการอุตสาหกรรมให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน รวมไปถึงการพัฒนาเครื่องมือที่สามารถใช้เป็นต้นแบบในการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ในการสนับสนุนส่งเสริมและกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมในเขตประกอบการอุตสาหกรรมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยกองส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตและพื้นที่อุตสาหกรรม ได้จัดการประชุมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาเขตประกอบการอุตสาหกรรมมุ่งพัฒนาและยกระดับภาคอุตสาหกรรมในเชิงพื้นที่ ผนึกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องตามนโยบายและแผนพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย และแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม กระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านภาคอุตสาหกรรมที่เป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ที่มีความสมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติ และไม่ทำลายรากฐานวิถีชีวิตของชุมชน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้