Last updated: 30 ม.ค. 2566 | 298 จำนวนผู้เข้าชม |
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าเปิดแผนเร่งยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ ปี 66 "ดีพร้อมโต" ผ่าน 4 กลไก “โตได้ โตไว โตไกล โตให้ยั่งยืน” มุ่งเน้นการยกระดับผู้ประกอบการและธุรกิจอุตสาหกรรมให้เติบโตด้วยกระบวนการทางธุรกิจที่เข้มข้น โดยตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน และประชาชนกว่า 28,600 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 7,500 ล้านบาท พร้อมขานรับนโยบายอุตสาหกรรมคู่ชุมชน สร้างโมเดลชุมชนดีพร้อม เชื่อมโยงและประสานประโยชน์ระหว่างภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และชุมชน มุ่งรักษาสมดุลการพัฒนาระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน
นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เปิดเผยว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา ดีพร้อม ได้ดำเนินงานตามนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้ นโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) ผ่านกลไก โครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ จนสามารถพัฒนาผู้ประกอบการมากกว่า 14,000 ราย และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมกว่า 7,000 ล้านบาท โดยเฉพาะโครงการอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชน ดีพร้อม หรือ อาชีพดีพร้อม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เป็นเรือธงในการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ขณะเดียวกัน ยังได้ขยายการให้บริการประชาชนที่เข้าร่วมโครงการกับดีพร้อมจากเดิมเฉลี่ยปีละ 10,000 ราย ไปสู่ 700,000 ราย ส่งผลให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการมีศักยภาพทางด้านวิชาชีพเพิ่มขึ้น
อีกทั้งยังสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพต่อยอดธุรกิจ และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการ โดยภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2566 นี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวโดยมีปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว อันจะส่งผลดีกับภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังจากความผันผวนของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดการชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนวิกฤตพลังงานที่ราคายังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงกดดัน การบริโภคของภาคครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง และอาจลุกลามซ้ำเติมความเปราะบางทางการเงินให้กับประชาชนบางกลุ่ม อาทิ กลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อมและผู้มีรายได้น้อย
นายใบน้อย กล่าวอีกว่า จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ดีพร้อม ได้มีการถอดบทเรียนต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็งในทุก ๆ มิติ ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศต่อไป โดยในปี 2566 นี้ “ดีพร้อม” ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนมากกว่า 13,000 ราย และคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท และดำเนินกิจกรรมพิเศษ เพื่อยกระดับประชาชนให้สามารถก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการในอนาคต โดยมีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 15,600 ราย และคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท
สำหรับ นโยบาย "ดีพร้อมโต" โตได้ โตไว โตไกล โตให้ยั่งยืน มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมให้เติบโตด้วยกระบวนการทางธุรกิจที่เข้มข้น 4 กลไก ประกอบด้วย โตได้ (Start) เป็นกลไกที่ช่วยให้ประชาชนมีโอกาสเริ่มต้นธุรกิจและเติบโตเป็นผู้ประกอบการใหม่ในชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยเกษตรอุตสาหกรรม และเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชน โตไว (Speed) เป็นกลไกที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เติบโตได้อย่างรวดเร็วด้วยการสร้างมาตรฐาน เพิ่มผลิตภาพ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และความคิดสร้างสรรค์ในการทำธุรกิจให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด โตไกล (Scale) เป็นกลไกเพิ่มประสิทธิภาพและขยายฐานการผลิตให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง เน้นการเปลี่ยนผ่าน (Transformation) สู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-curve) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสมัยใหม่ อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เพื่อขยายสู่ตลาดสากลและสุดท้าย โตให้ยั่งยืน (Sustainable) เป็นกลไกที่มุ่งสนับสนุนปัจจัยเอื้อที่ช่วยให้ธุรกิจยั่งยืน เข้าถึงมาตรการและความช่วยเหลือต่าง ๆ ของภาครัฐ พร้อมทั้งให้ความสำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ตามนโยบาย BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง
นายใบน้อย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกัน ในปี 2566 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตเคียงคู่กับชุมชน จึงได้มอบหมายให้ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปฏิรูปกระทรวงอุตสาหกรรมด้วยนโยบาย MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน จึงได้สั่งการให้ ดีพร้อม พัฒนาโมเดลการส่งเสริมอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ “โมเดลชุมชนดีพร้อม” ที่พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไปพร้อมกับชุมชน ผ่านการเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และชุมชนให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย
1) ค้นหาและบอกต่อ มุ่งเฟ้นหาผู้นำทางธุรกิจต้นแบบที่ดำเนินธุรกิจร่วมกับสังคมโดยรอบอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นผู้นำทางธุรกิจที่มีศักยภาพในการพัฒนาและขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจรวมถึงเป็นผู้ที่มีจิตสาธารณะ หรือเป็นผู้ที่มี “ใจ”และ“พลัง” ในการช่วยเหลือชุมชนและสังคม
2) ประสานประโยชน์ วางแผนเพื่อแสวงหาจุดดำเนินการร่วมระหว่างผู้นำทางธุรกิจ (DIPROM HERO) กับชุมชน โดยการประสานประโยชน์ต้องมีรูปแบบการได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
3) เสริมแกร่ง โดยเสริมความแกร่งให้กลุ่มชุมชนตามหลักการอุตสาหกรรม อาทิ ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพด้วยเครื่องมือเครื่องจักร รักษาคุณภาพมาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่มและทำการตลาดให้กับเครือข่าย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนา รวมถึงสนับสนุนให้โมเดลชุมชนดีพร้อมมีความเข้มแข็งมากขึ้น
และ 4) ยกระดับ เป็นกระบวนการบ่มเพาะ “ผู้นำชุมชน” ให้เป็นนักธุรกิจเพื่อสังคม ยกระดับสู่การเป็นผู้นำทางธุรกิจ เพื่อต่อยอดและสร้างฮีโร่ทางธุรกิจรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนและขยายวงจรโมเดลชุมชนดีพร้อมไปในวงกว้าง ทำให้ธุรกิจอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ในปี 2566 ดีพร้อม ยังมีการดำเนินกิจกรรมพิเศษ ประกอบด้วย 1) การปฏิรูป DIPROM CENTER ให้เป็นศูนย์กลางการให้บริการภาคธุรกิจ เช่น การเปิดพื้นที่จัดกิจกรรม “อุตสาหกรรมแฟร์” เพื่อจำหน่ายสินค้าคุณภาพดี ราคาเหมาะสม รวมถึงพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่สนใจประกอบธุรกิจ 2) การพัฒนาช่องทางตลาดออนไลน์ (DIPROM Marketeer) ส่งเสริมการเข้าถึงและพัฒนาศักยภาพในการจัดจำหน่ายสินค้าและบริการในช่องทางออนไลน์ของผู้ประกอบการแบบครบวงจร ตั้งแต่การฝึกอบรม การจัดพื้นที่สนับสนุนการค้าออนไลน์ การให้คำปรึกษาแนะนำ รวมถึงการจัดแสดงสินค้าในรูปแบบไฮบริด
3) การพัฒนานักส่งเสริมอาชีพดีพร้อม (DIPROM Vocational & Industrial Promoter : DIPROM VIP) เพื่อสร้างผู้ให้บริการในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ สร้างงาน สร้างรายได้ ทำให้ชุมชนเข้มแข็งจากภายใน และ 4) ปั้นดีพร้อมรุ่นเยาว์สู่ดีพร้อมที่ยอดเยี่ยม ภายใต้หลักสูตร DIPROM Young Elite Squad (DIPROM YES!) ซึ่งประยุกต์มาจากหลักสูตรพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมและรูปแบบการปฏิบัติงานของดีพร้อม เพื่อพัฒนาการให้บริการผู้ประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นายใบน้อย กล่าวทิ้งท้าย