Last updated: 10 ก.ค. 2567 | 222 จำนวนผู้เข้าชม |
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมประชุมและเปิดตัวการใช้งาน ระบบวิเคราะห์สมรรถนะการวิจัยของประเทศไทย Thailand Research Analysis and Performance Version 2024 (ThaiRAP Version 2024) โดยมี ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ดร.กริช นาสิงห์ขันธุ์ นักวิจัยเนคเทค สวทช. รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 30 องค์กร เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซอยสุขุมวิท 11 กรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (หรือศูนย์ TCI) มจธ. ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก สกสว.ดำเนินงานโครงการพัฒนา “ระบบวิเคราะห์สมรรถนะการวิจัยของประเทศไทย” (Thailand Research Analysis and Performance: ThaiRAP) หรือ ระบบ ThaiRAP ตั้งแต่ปี 2564 โดยใช้ข้อมูลผลงานตีพิมพ์ที่ปรากฏในฐานข้อมูล TCI มาใช้ในการวิเคราะห์สมรรถนะการวิจัยในระดับชาติ
นอกจากนี้ศูนย์ TCI ยังได้คัดเลือกหน่วยงานนำร่อง 30 หน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วย แหล่งทุน หน่วยงานกำหนดนโยบาย และมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน มาทดลองใช้ระบบ ThaiRAP เพื่อให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567 เป็นต้นมา ทั้งนี้การพัฒนาระบบ ThaiRAP Version 2024 ได้แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลก ที่มีระบบวิเคราะห์สมรรถนะการวิจัยในระดับชาติ ที่สามารถเทียบเคียงได้กับระดับนานาชาติ โดยวันนี้ถือเป็นการเปิดตัวการใช้งานระบบดังกล่าวแก่หน่วยงานนำร่อง 30 หน่วยงาน
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ระบบ ThaiRAP สามารถวิเคราะห์สมรรถนะการวิจัยของประเทศไทยได้ทั้งในระดับประเทศ ระดับหน่วยงาน/มหาวิทยาลัย และระดับบุคคล โดยมีดัชนีชี้วัด (Metric) ที่หลากหลาย เช่น จำนวนผลงานตีพิมพ์ในแต่ละปี จำนวนผู้แต่ง สาขาวิชาที่มีการตีพิมพ์ คำสำคัญที่แสดงเนื้อหาบทความ จำนวนการอ้างอิงโดยรวม จำนวนการอ้างอิงต่อบทความ และความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงาน เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบ ThaiRAP จะเกิดประโยชน์ต่อทั้งอาจารย์ นักศึกษา นักวิจัย ผู้บริหาร ผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนหน่วยงานให้ทุนสนับสนุนการวิจัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายและทิศทางการวิจัยของประเทศ ที่สามารถนำระบบ ThaiRAP ไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลผลงานวิจัย ความเชี่ยวชาญของนักวิจัยและหน่วยงานวิจัย สถานการณ์และภาพรวมของการวิจัย เพื่อประโยชน์ในการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานหรือของประเทศ รวมทั้งการกำหนดทิศทางการวิจัยและนวัตกรรม และการติดตามและประเมินขีดความสามารถด้านการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศไทยต่อไป ทั้งนี้ ระบบ ThaiRAP (https://thairap.in.th/) จะเปิดให้บริการกับทุกหน่วยงานอย่างเต็มรูปแบบในช่วงปี 2568 เป็นต้นไ
“การวิเคราะห์สมรรถนะการวิจัยพื้นฐานของประเทศ เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อการวิจัย พัฒนา และการสร้างนวัตกรรม ตลอดจนการกำหนดแนวทางการวิจัยของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ผู้กำหนดนโยบายทุกระดับ ได้รับทราบและตระหนักถึงสถานการณ์ปัจจุบันของการวิจัย ทั้งในเชิงสาขาวิชา ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชา ตลอดจนหน่วยงานที่มีความเข็มแข็งในสาขาวิชานั้น ๆ ThaiRAP จึงเกิดขึ้นเพื่อเสริมความเข้าใจในภาพรวมของงานวิจัยที่แท้จริงของประเทศไทย ทำให้ทุกฝ่ายสามารถใช้ข้อมูลเดียวกันในการวางแผนและดำเนินการได้อย่างเป็นระบบ เพื่อการพัฒนาและต่อยอดสู่นวัตกรรมต่อไป”