Last updated: 15 ม.ค. 2567 | 296 จำนวนผู้เข้าชม |
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เร่งเดินหน้ายกระดับศักยภาพนวัตกรรมไทยผ่านการพัฒนาย่านนวัตกรรม โดยชูความพร้อม 2 ย่านนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอกที่ปัจจุบันมีความโดดเด่นทั้งมิติบุคลากรทางการแพทย์ ทรัพย์สินทางปัญญา ประเภทของนวัตกรรมที่เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ และย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมหลักของประเทศผ่านความพร้อมด้านระบบนิเวศและนวัตกรรมที่พร้อมใช้งานทั้งด้านการผลิตพืช การผลิตสัตว์ การประมง อุตสาหกรรมอาหารและการแปรรูป และพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าหมายผลักดันให้ทั้ง 2 ย่านสามารถดึงดูดการลงทุนให้เพิ่มขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเกิดธุรกิจใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศและภูมิภาค
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า แนวคิดย่านนวัตกรรมเป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากเป็นการพัฒนาเมืองและย่านให้ดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการนวัตกรรมมารวมกันเป็นคลัสเตอร์ผ่านโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศที่เอื้อต่อธุรกิจตามบริบท – ศักยภาพของแต่ละพื้นที่ สำหรับประเทศไทย นอกจากพื้นที่กรุงเทพฯ แล้วยังมีอีกหลายจังหวัดในระดับภูมิภาคที่มีความก้าวหน้าจาการพัฒนาย่านนวัตกรรมโดยเฉพาะ “จังหวัดเชียงใหม่” ซึ่งปัจจุบันเลือกปักหมุดความโดดเด่น 2 ด้านคือ ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก (อำเภอเมือง) และย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ (อำเภอสันทราย) โดยทั้ง 2 ย่านนี้ จะเป็นตัวแปรสำคัญในการดึงดูดความสนใจจากภาคการลงทุนทั้งของไทยและต่างชาติ
ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอกเป็นหนึ่งในความโดดเด่นของเชียงใหม่ เนื่องจากมีการกระจุกตัวของโรงพยาบาล สถานบริการทางการแพทย์ คลินิกเอกชน บุคลากรด้านการแพทย์จำนวนมากกว่า 7,400 ราย มีพื้นที่วิจัยและพัฒนาเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม ตลอดจนพื้นที่เพื่อการสร้างสรรค์และแบ่งปันไอเดียอย่าง Co – Working Space ซึ่งสามารถรองรับกลุ่มคนที่เข้ามาได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย นักธุรกิจ นักลงทุน และสตาร์ทอัพ โดยปัจจุบันมีธุรกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพทางด้านการแพทย์เข้ามาดำเนินธุรกิจภายในย่านแล้วกว่า 150 ราย
“การทำงานของย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอกมีกลไกเดียวกับย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี คือทำหน้าที่พัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมการแพทย์ของไทย ช่วยสร้างองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม แบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน และเชื่อมโยงทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาให้ทำงานร่วมกันมากขึ้นผ่านหลากหลายโครงการในย่าน รวมถึงช่วยดึงดูดเงินลงทุนให้เข้ามาในพื้นที่เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพและเป็นที่
สนใจในระดับภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ ยังเปรียบเสมือนเป็น Sandbox หรือ Playground ให้กับผู้ประกอบการนวัตกรรมได้มาเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งมิติของงานวิจัย การวิจัยทางคลินิก การพัฒนานวัตกรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานการผลิตที่สามารถนำมาใช้จริงกับสถานพยาบาล โดย NIA ยังมีเป้าหมายในการพัฒนาย่านดังกล่าวให้เป็นเป็นเขตส่งเสริมการลงทุนเช่นเดียวกันกับย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้ประกาศลงนามในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อทำให้เกิดการลงทุนจากนักลงทุนไทยและต่างชาติเพิ่มมากขึ้น”
สำหรับความพร้อมในด้านระบบนิเวศของย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก มีบุคลากรเฉพาะทางรวม 3,842 ราย บุคลากรสนับสนุน 3,453 ราย เตียงทางการแพทย์ 1,647 เตียง นักศึกษากว่า 11,000 ราย ทรัพย์สินทางปัญญาย้อนหลังล่าสุด 3 ปี จำนวน 122 รายการ มีนวัตกรรมพร้อมใช้งานทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ 61 นวัตกรรม ด้านเภสัชกรรมและการบำบัดโรค 13 นวัตกรรม ด้านภูมิคุ้มกันและวัคซีน 5 นวัตกรรม ด้านเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลและข้อมูล 27 นวัตกรรม ด้านการวินิจฉัยและห้องปฏิบัติการรวม 2 นวัตกรรม และอื่น ๆ 31 นวัตกรรม มีเครือข่ายที่เป็นสถาบันต่าง ๆ รวมกว่า 25 แห่ง อีกทั้งยังมีแหล่งทุนเพื่อช่วยในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง การจับคู่ธุรกิจให้กับภาคเอกชนและนักลงทุนที่สนใจ ตลอดจนพื้นที่ทดลองนวัตกรรมทางการแพทย์ “Regulatory Sandbox” ที่เป็นสภาพแวดล้อมที่เหมือนตลาดจริง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมหรือโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ
ดร.กริชผกา กล่าวเสริมว่า NIA ยังได้สนับสนุนการพัฒนาย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ ให้เป็นศูนย์รวมนวัตกรรมเกษตรและอาหาร เพื่อสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูงที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนบนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งจากลักษณะทางกายภาพและภูมิอากาศที่เหมาะสม ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ รวมถึงความหสากหลายทางชีวภาพบนเนื้อที่กว่า 6.27 ตารางกิโลเมตร ที่สามารถรองรับได้ทั้งการทำงานวิจัย การทดลองทำธุรกิจของสตาร์ทอัพ การจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรม และเป็นพื้นที่จ้างงานตำแหน่งใหม่ในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้ที่พร้อมถ่ายทอดในหลากหลายด้าน ได้แก่ การผลิตพืช เช่น ระบบแนะนำวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ การผลิตไม้ผลในโรงเรือนระบบปิดด้วยระบบฟาร์มอัจฉริยะ โมบายแอปพลิเคชันสำหรับเกษตรกร การผลิตสัตว์ เช่น โรงงานอาหารสัตว์อินทรีย์ ระบบการจัดการฟาร์มแบบ Smart Livestock การประมง เช่น ระบบให้อาหารปลาอัตโนมัติสำหรับฟาร์มขนาดใหญ่ บ่อเลี้ยงปลาพลังงานแสงอาทิตย์ อุตสาหกรรมอาหารและการแปรรูป เช่น การเพิ่มมูลค่าอาหารจากทุนทางวัฒนธรรม การออกแบบนวัตกรรมที่เหมาะกับสินค้า และพลังงานและสิ่งแวดล้อม ที่มีนวัตกรรมรองรับเทรนด์การเกษตรและการผลิตอาหารใหม่ที่สอดคล้องกับการใช้พลังงานและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมโลก
นอกจากนี้ ยังมีความโดดเด่นใน 3 สินทรัพย์สำคัญคือ สินทรัพย์ทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะ รวมถึงถนนและโครงสร้างพื้นฐานที่ออกแบบและจัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมต่อความร่วมมือทางนวัตกรรม สินทรัพย์เครือข่าย ที่เป็นสถาบันที่มีศักยภาพ เช่น ศูนย์วิจัยพืชไร่ เชียงใหม่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วิสาหกิจภายในย่าน รวมถึงสถาบันการเงิน และสินทรัพย์สินทรัพย์ทางเศรษฐกิจ กลุ่มองค์กรที่ขับเคลื่อนการปลูกฝังหรือสนับสนุนสภาพแวดล้อมให้เกิดนวัตกรรม เช่น สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร ผู้ประกอบการด้านเกษตร
และอาหาร เทคโนโลยีดิจิทัลและงานที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น ร้านอาหาร คาเฟ่ โรงแรมขนาดเล็ก ทั้งนี้ NIA มุ่งหวังว่าการจัดตั้งย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้นี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการชับเคลื่อนให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในฐานะผู้นำด้านอุตสาหกรรมอาหารของโลก ไม่ว่าจะในมิติของการส่งออก การลงทุน การผลิต รวมถึงเป็นแลนด์มาร์คเชื่อมโยงภาครัฐและภาคธุรกิจที่สามารถผลักดันสินค้าและบริการออกสู่ตลาดได้รวดเร็วขึ้น ยกระดับรายได้ของเกษตรกรไทย และขับเคลื่อน GDP ภาคเกษตรและอาหารให้เกิดการขยายตัว