สวทช. สรุปผลงานปี 66 ก้าวสู่ยุค 6.0 พร้อมขับเคลื่อนงานวิจัย รับใช้สังคม

Last updated: 8 มิ.ย. 2567  |  294 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สวทช. สรุปผลงานปี 66 ก้าวสู่ยุค 6.0 พร้อมขับเคลื่อนงานวิจัย รับใช้สังคม

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมคณะผู้บริหารและนักวิจัย แถลงผลงาน สวทช. ประจำปี 2566 “สวทช. ขับเคลื่อนงานวิจัย BCG เพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทย สู่ความยั่งยืน” พร้อมเปิดนโยบาย 11 BCG Implementation ปี 2567 เพื่อแสดงความมุ่งมั่นขององค์กรวิจัยระดับชาติในการพัฒนาประเทศตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสนับสนุนภาคส่วนต่าง ๆ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน  


ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. แถลงว่า สวทช. ในยุค 6.0 ได้ประกาศวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้ สวทช. เป็นขุมพลังหลักของประเทศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ในการพัฒนาระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมให้เข้มแข็ง ตามนโยบายที่ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มอบไว้คือ “เอกชนนำ รัฐสนับสนุน”  ทั้งนี้ สวทช. ได้ระดมบุคลากรจากหลายส่วนงานมาร่วมขับเคลื่อนและผลักดันยุทธศาสตร์ NSTDA Core Business สร้างพลังวิจัยรับใช้สังคม โดยเพิ่มบทบาทการทำงานเชิงรุกผลักดันงานวิจัยให้เข้าถึงประชาชนและใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ช่วยลดช่องว่างปัญหาคอขวดของงานวิจัย ให้เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ชัดในสังคมมากขึ้นและยังได้รับการตอบรับจากประชาชนผู้ใช้งานจริงหลักล้านคนในหลายภาคส่วน  โดยเฉพาะผลงานที่ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จริง

สวทช. มุ่งมั่นสร้างผลงานด้าน วทน. ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริงจนก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย” คือ 1. เกษตรและอาหาร 2. สุขภาพและการแพทย์ 3. พลังงาน  และเคมีชีวภาพ   4. เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐานในการพัฒนา ตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) และแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Strategy)”


 ผลงานในปี 2566 ที่ถูกนำไปใช้จริงในหน่วยบริการขนาดใหญ่ของภาครัฐเพื่อให้บริการภาคประชาชน  ได้แก่ 1.Traffy Fondue แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมและผู้ให้บริการมีระบบการติดตามแก้ปัญหาที่รวดเร็วขึ้น ผ่านช่องทางแอปพลิเคชันไลน์ หน่วยงาน ขยายผลการใช้งานไปใน 53 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในจำนวนนี้มี 17 จังหวัดที่ใช้งานทุกส่วนราชการ   และ 2. A-MED Digital Healthcare Platform แพลตฟอร์มที่ถูกพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาการบริการด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยการพัฒนาระบบบริการด้านสาธารณสุข A-MED Care Pharma เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นปฐมภูมิผ่านร้านยา โดยเป็นการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สภาเภสัชกรรม และร้านยาคุณภาพ ช่วยทำให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย (Common Illness) ใน 16 อาการ สามารถรับยาฟรีผ่านการดูแลโดยเภสัชกรที่ร้านยาคุณภาพใกล้บ้านได้ทันที ณ ร้านยาคุณภาพที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 1,600 แห่ง รวมบริการมากถึง 1.1 ล้านครั้งแล้ว   3.FoodSERP แพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน ในรูปแบบ One stop service ที่ครอบคลุมด้านพัฒนากระบวนการผลิตและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารฟังก์ชัน เวชสำอาง และสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (Functional ingredients) วิเคราะห์ทดสอบด้านประสิทธิภาพ คุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ และ 4. Industry 4.0 Platform แพลตฟอร์มให้บริการ Digital Transformation สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตแบบครบวงจร ที่รวบรวมบริการและกิจกรรมสนับสนุนการยกระดับภาคอุตสาหกรรม ช่วยให้ผู้ประกอบการไทย สามารถดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน
ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ตลอดปี 2566 สวทช. สามารถผลิตผลงานวิจัยและเทคโนโลยีที่ภาครัฐ เอกชน และประชาชน นำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม มูลค่า 46,000 ล้านบาท เกิดการลงทุนทางด้าน วทน. มูลค่า 15,000 ล้านบาท ยกระดับอุตสาหกรรมด้วยโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยให้บริการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ และให้คำปรึกษาทางเทคโนโลยีมากกว่า 83,000 รายการ  ทั้งด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม สู่การใช้งานจริงเชิงพาณิชย์   ด้านการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและชุมชนให้เข้มแข็ง  การพัฒนาและสร้างเสริมบุคลากรวิจัยให้แก่ประเทศ โดยสนับสนุนบัณฑิตและนักวิจัยอาชีพ ผ่านการให้ทุน และส่งเสริมการเรียนรู้ด้าน วทน. ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ และค่ายวิทยาศาสตร์


นอกจากนี้ สวทช. ได้นำตัวอย่างผลงานวิจัยเด่นจาก 5 ศูนย์เทคโนโลยีแห่งชาติ มาร่วมจัดแสดง อาทิ  ชีวภัณฑ์เพื่อการเกษตร (ผลงานโดยไบโอเทค)    ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ HandySense (ผลงานโดยเนคเทค)   ชุดตรวจวัดโลหะหนักในพืชสมุนไพรและน้ำ หรือ M Sense (ผลงานโดยนาโนเทค)   

“EnPAT” น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยากจากปาล์มน้ำมันไทย  (ผลงานโดยเอ็นเทค  และ “Rachel” ชุดบอดี้สูทช่วยในการเคลื่อนไหวสำหรับผู้สูงอายุ (ผลงานโดยเอ็มเทค)

จากการขับเคลื่อนแผนปัญญาประดิษฐ์ระดับประเทศ ทำให้ประเทศไทยขยับอันดับขึ้นจาก 59 เป็น 31 จากการจัดอันดับดัชนีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาล อีกทั้งร่วมขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ระดับประเทศและจังหวัดนำร่อง มีจำนวนผู้ได้รับการพัฒนาทักษะ BCG สะสม ปี 2564 - 2565 รวมกันกว่า 6 แสนคน และมีสัดส่วนของเศรษฐกิจ BCG สูงขึ้นในจังหวัดนำร่อง เช่น จันทบุรีและราชบุรี

 ปักธง ปี 67 ขับเคลื่อนงานวิจัย BCG เพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทย สู่ความยั่งยืน
ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปี 2567 สวทช. ยังคงมุ่งมั่นนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญการวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ขยายผลงานวิจัยไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ตามนโยบายที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ศุภมาส อิศรภักดี ได้เน้นย้ำให้เร่งผลักดันงานวิจัยเข้าถึงประชาชนและสนับสนุนการดำเนินงานของภาคเอกชนอย่างเต็มกำลัง โดยปักธง รวมพลัง สวทช. ขับเคลื่อนงานวิจัย 11 BCG Implementation ด้วยกลยุทธ์ “1 ลด - 2 เพิ่ม - 1 สร้าง” ที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างยั่งยืน

“1 ลด” คือ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ประกอบด้วย 3 โครงการวิจัย ได้แก่ 1.ทุ่งกุลาร้องไห้ เกษตรกร/ผู้มีรายได้น้อยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี สินค้าเกษตรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ได้รับการยกระดับด้วย วทน. 2.Traffy Fondue บริหารจัดการปัญหาเมือง เชื่อมโยงประชาชนเข้ากับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ และ 3.Platform การสื่อสารของผู้พิการ & ผู้สูงอายุ เป็นแพลตฟอร์มสนับสนุนการเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสารของคนพิการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อบริการสื่ออ่านง่ายสำหรับบุคคลที่บกพร่องทางการรับรู้

“2 เพิ่ม” คือ เพิ่มอัตราการเติบโตทางศรษฐกิจ ประกอบด้วย 2 โครงการวิจัย ได้แก่ 1.สารสกัดมูลค่าสูง กะเพรา กระชายดำ ใบบัวบก โดยพัฒนากระบวนการผลิตสารสกัดมาตรฐาน ระดับอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์อาหาร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และ 2. แพลตฟอร์มการผลิตอาหารฟังก์ชัน และ Functional Ingredients เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน อาหารเฉพาะทาง และอาหารอนาคต รวมถึงร่วมสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรม Functional ingredients ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารและเวชสำอางของประเทศ และ เพิ่มการพึ่งพาตนเอง ประกอบด้วย 4 โครงการวิจัย ได้แก่ 1.Digital healthcare ขยายผลแพลตฟอร์มบริการการแพทย์ปฐมภูมิและระบบเบิกจ่าย / การเบิกจ่าย / การบริการการแพทย์ฉุกเฉิน / บริการ ข้อมูลและเฝ้าระวังโรค / ล่ามภาษามือทางไกลสำหรับการแพทย์ 2.วัคซีนสัตว์ ทดสอบประสิทธิภาพต้นแบบวัคซีนออโตจีนัส ASFV เชื้อตายพัฒนากระบวนการผลิตวัคซีนASFV สู่การผลิตในประเทศ 3.ชุดตรวจโรคไตและเบาหวาน พัฒนาชุดตรวจติดตามโรคไตและเบาหวานที่ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับ อย. และเข้าระบบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และ 4.National AI Ecosystem พัฒนาระบบนิเวศส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ในภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม
และ “1 สร้าง” คือ สร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 2 โครงการวิจัย ได้แก่ 1.ตัวชี้วัดและฐานข้อมูล CO2 , CE, SDGs พัฒนาตัวชี้วัดสำคัญเพื่อสนับสนุนแนวทาง SDGs ปรับปรุงฐานข้อมูลวัฎจักรชีวิตระดับประเทศ รวมถึงตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน และ 2. Industry 4.0 Platform สนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน โดยมุ่งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้ทรัพยากร ลดการปลดปล่อยของเสีย และการปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้