Last updated: 14 ธ.ค. 2566 | 766 จำนวนผู้เข้าชม |
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมด้วยจุฬาฯ เกษตรฯ และหน่วยงานพันธมิตรอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ร่วมกันพัฒนายามาลาเรีย ที่ได้ผลต่อเชื้อที่ดื้อยาที่เรียกว่า “แอนตี้โฟเลต” โดยเป็นผลงานที่เริ่มจากการวิจัยขั้นพื้นฐานจนได้เป็นยาที่เรียกว่า “P218”
ในขั้นต่อไปจะได้พัฒนาจนสามารถจดทะเบียนตำรับยา เพื่อผลิตใช้ในการป้องกันและรักษาได้ ซึ่งจะเป็นยาต้านมาลาเรียตัวแรกที่มาจากการค้นคิดและพัฒนาของคนไทยแบบครบวงจร โดยข้อตกลงความร่วมมือแรก สวทช. ได้ทำร่วมกับ ม.มหิดล ซึ่งมีความสามารถและผลงานด้านการพัฒนายาสู่การจดทะเบียนและสู่ตลาดมานานแล้ว ช่วยให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางยา ซึ่งมีเป้าหมายกำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดไปจากประเทศได้
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านมาลาเรียในประเทศไทย สวทช. กล่าวว่า มาลาเรียยังเป็นปัญหาใหญ่ของโลก คร่าชีวิตคนปีละกว่า 600,000 คน ประเทศไทยเองก็ประสบปัญหานี้ ซึ่งการสู้รบในประเทศเพื่อนบ้านทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง การรักษายุ่งยากเนื่องจากเชื้อมักจะดื้อยา จึงเป็นเรื่องที่ต้องหาทางแก้ไข ด้วยการออกแบบยาที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนักวิจัยของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศเดินหน้าศึกษาวิจัยเรื่องยารักษามาลาเรียมากว่า 30 ปี โดยทีมวิจัยวิศวกรรมโปรตีน-ลิแกนด์และชีววิทยาโมเลกุล กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพระดับโมเลกุลทางการแพทย์ ไบโอเทค ได้ทำการศึกษาวิจัยโครงสร้างของโปรตีนเป้าหมายที่มีชื่อเรียกว่า DHFR ทำให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของโปรตีนที่ทำให้เกิดการดื้อยา จึงได้นำความรู้เรื่องนี้มาเป็นเป้าหมายในการพัฒนายาร่วมกับนักวิจัยจากหลายประเทศทั่วโลก จนออกมาเป็นผลงานวิจัยยาต้านมาลาเรียต้นแบบ P218 ที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2556 ซึ่งเป็นสารต้านมาลาเรียตัวแรกที่ออกแบบและสังเคราะห์ขึ้นเองโดยนักวิจัยไทย
“ความร่วมมือผลักดันยามาลาเรีย P218 สู่การเป็นยาใหม่ตัวแรกจากประเทศที่กำลังพัฒนา ระหว่าง ไบโอเทค สวทช. กับมหิดล จะร่วมกันดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเพื่อทำการทดสอบความเป็นพิษของยา P218 ในสัตว์ทดลองเพื่อทำการทดสอบประสิทธิภาพของยา P218 ในระดับคลินิก เพื่อการทำนายขนาดของยา P218 ที่เหมาะสมในการรักษาโรคมาลาเรียอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการสนับสนุนทรัพยากร แลกเปลี่ยน เสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งร่วมกับหน่วยงานอื่น รวมทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อต่อยอดพัฒนาตำรับยาต้านมาลาเรียสู่เภสัชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีมาตรฐานสากล ซึ่งจะขยายผลสู่ขั้นตอนการผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป เพื่อสนับสนุนการผลิตยาต้านมาลาเรียที่ออกมาใช้ได้จริง ในรูปแบบยากินราคาถูก เข้าถึงผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นคนยากจน นับเป็นก้าวสำคัญในการเดินหน้าวิจัยอย่างแข็งแกร่งไปพร้อมกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อผลักดันให้มีผลิตภัณฑ์ยาต้านมาลาเรียสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา ถือเป็นครั้งแรกของโลก โดยทีมนักวิจัยของประเทศไทย”
ด้านดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างไบโอเทค สวทช. และมหาวิทยาลัยมหิดล จะช่วยต่อยอดขยายผลพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการค้นหาทำนายขนาดของยา P218 ที่เหมาะสมในการรักษาโรคมาลาเรีย และพัฒนาตำรับยาต้านมาลาเรีย สู่เภสัชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีมาตรฐานสากล เพื่อขยายผลสู่ขั้นตอนการผลิตเชิงพาณิชย์ในลำดับถัดไป ถือเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรภายใต้กระทรวง อว. ในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG และสอดคล้องตามนโยบาย “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” และ “เน้นประเด็นสำคัญของประเทศ” ของกระทรวง อว. ภายใต้การนำของ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. เพื่อตั้งเป้าสร้างศักยภาพการผลักดันยา P218 สู่การเป็นยาใหม่ตัวแรกของประเทศที่ไทยและประเทศกำลังพัฒนาของโลกได้สำเร็จต่อไป
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นศักยภาพยา P218 จึงนำเอาศักยภาพของแพลตฟอร์มการพัฒนายา “Mahidol University Drug Discovery & Development” หรือ MU-DDD มาใช้ในการผลักดันยา P218 สู่การเป็นผลิตภัณฑ์ยาของประเทศไทย โดยแพลตฟอร์ม MU-DDD เกิดขึ้นจากต้นทุนความเข้มแข็งด้านการวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยที่สั่งสมมากว่า 50 ปี และได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ของกระทรวง อว. ตั้งแต่ปี 2564 โดยจุดเด่นแพลตฟอร์มคือ ความสมบูรณ์ของศักยภาพการพัฒนายาที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และเชื่อมต่อกับความเข้มแข็งด้านการทำวิจัยในสัตว์ทดลอง ความสามารถในการพัฒนาสูตรตำรับยาให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะกับการใช้ในกลุ่มประชากรที่หลากหลาย เช่น เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ตลอดจนความเข้มแข็งด้านการทำวิจัยในมนุษย์ของคณะแพทย์ฯ ทั้งสามคณะในมหิดล ทำให้เป็นแพลตฟอร์มพัฒนายาที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย
“ปัจจุบัน ม.มหิดล ได้ร่วมประชุมและลงมือทำวิจัยกับทีมนักวิจัยไบโอเทค สวทช. ในการพัฒนายา P218 มาเป็นระยะ ๆ และได้ทิศทางที่ชัดเจนในการผลักดันยา P218 ให้เข้าสู่ขั้นตอนต่าง ๆ ที่จำเป็นตามเกณฑ์การขึ้นทะเบียนยาของไทยและระดับนานาชาติ รวมถึงได้เริ่มประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ในเบื้องต้นเพื่อให้ อย. รับทราบเกี่ยวกับความพยายามดังกล่าว โดยคาดการณ์ว่าอาจสามารถดำเนินการเตรียมความพร้อมของข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงวิจัยเพิ่มเติมอีกไม่เกิน 2 ปี จะสามารถเข้าสู่กระบวนการขอขึ้นทะเบียนยา P218 ได้เป็นผลสำเร็จ” อธิการบดี ม.มหิดล กล่าวปิดท้าย