Last updated: 20 ก.ย. 2566 | 231 จำนวนผู้เข้าชม |
มูลนิธิรามาธิบดีฯ เร่งระดมทุนสนับสนุนผู้ป่วยขาดแคลนทุนทรัพย์หวังบรรเทาความเจ็บปวด-ยืดระยะเวลาการใช้ชีวิต
ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยให้การสนับสนุนประชาชนในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพด้วยระบบสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขได้มากขึ้น แต่ไม่อาจสรุปได้ว่าคนไทยเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพราะยังคงมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยยากไร้ ทั้งในแง่ของการเข้าถึงและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และแม้ว่าคนไทยจะสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น แต่ในบางสถานบริการสุขภาพก็ยังคงมีศักยภาพไม่เพียงพอต่อการรักษาที่ครอบคลุม โดยเฉพาะการรักษาในกลุ่มโรคซับซ้อน
มูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงมุ่งมั่นสืบสานพันธกิจแห่ง “การให้” ตลอด 54 ปีที่ผ่านมา ด้วยบทบาทของการเป็นเสมือนที่พึ่งให้กับคนไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยจากบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษากลุ่มโรคซับซ้อน พร้อมมอบโอกาสให้ผู้ป่วยยากไร้สามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพได้อย่างทัดเทียม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตควบคู่ไปกับการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของคนไทย
ศ.นพ.วิบูลย์ บุญสร้างสุข ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เล่าถึงแง่มุมในการทำงานภายใต้บทบาทของการเป็นแพทย์ด้านระบบการหายใจว่า “ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยทำให้ แวดวงการแพทย์สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดในการรักษาและช่วยยืดระยะเวลาในการใช้ชีวิตของผู้ป่วยได้มากขึ้น สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดในระยะที่ลุกลามเข้ามาในอวัยวะสำคัญ เช่น บริเวณท่อหลอดลมจนทำให้เส้นผ่านศูนย์กลางของหลอดลมมีขนาดแคบลง ส่งผลให้การหายใจเป็นไปได้อย่างยากลำบากและมีอาการเหนื่อยหอบ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการใส่ท่อค้ำหลอดลม (airway stent) เพื่อขยายเส้นผ่านศูนย์กลางของหลอดลมให้มีขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับการหายใจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้สะดวกมากขึ้น หลุดพ้นความทรมานจากอาการเหนื่อยหอบ และมีโอกาสดำเนินการรักษาโรคมะเร็งต่อไป
นอกจากนี้ ท่อค้ำหลอดลมยังช่วยป้องกันไม่ให้มะเร็งลุกลามไปในบริเวณของหลอดลมได้อีกด้วย ในการใส่ท่อค้ำหลอดลมจะพิจารณาจากบริเวณการลุกลามของมะเร็ง ซึ่งมี 2 รูปแบบ ได้แก่ ท่อค้ำหลอดลมรูปแบบตรง และท่อค้ำหลอดลมรูปแบบตัว Y ซึ่งราคาของท่อค้ำหลอดลมอยู่ที่ประมาณ 20,000-45,000 บาทต่อชิ้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบและความยาว โดยท่อค้ำหลอดลม อยู่นอกเหนือบัญชีการเบิกจ่ายกับสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ทั้งผู้ป่วยของโรงพยาบาลรามาฯ เอง หรือผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อมารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ไม่สามารถเบิกค่าท่อค้ำหลอดลมได้ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลง”
“แม้การใส่ท่อค้ำหลอดลมจะมีประโยชน์เพื่อลดอาการเหนื่อยจากหลอดลมตีบ เนื่องจากมะเร็งที่ลุกลาม และยืดอายุของผู้ป่วยได้ แต่ในแง่ของการเข้าถึงของผู้ป่วยถือว่ายังคงมีอย่างจำกัด ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง อีกทั้งสถานบริการที่มีศักยภาพในการใส่ท่อค้ำหลอดลมมักจะเป็นโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์เหมือนกับโรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งนี้ สำหรับเคสตัวอย่างเป็นเคสที่ถูกส่งต่อการรักษามาจากจังหวัดราชบุรีคือผู้ป่วยโรคมะเร็งหลอดอาหารที่ลุกลามไปในบริเวณผนังหลอดลม ไม่สามารถหายใจได้ แม้จะได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจแล้ว แพทย์จึงใส่ท่อค้ำหลอดลมร่วมกับการเจาะคอจึงทำให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น และสามารถส่งตัวกลับไปรักษาโรคมะเร็งต่อที่จังหวัดราชบุรีได้” ศ.นพ.วิบูลย์ บุญสร้างสุข กล่าวเสริม
อ.นพ.ธัช อธิวิทวัส (สาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์) แพทย์ผู้ให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อเนื่องหลังจากการถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอด และมะเร็งหลอดอาหาร เผยว่า “ในอดีตโรคมะเร็งที่พบได้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มชายไทย คือ โรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี แต่ในปัจจุบันโรคมะเร็งปอด ถือเป็นโรคที่พบได้มากที่สุดในกลุ่มชายไทย และเริ่มพบมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเพศหญิง ในปัจจุบันการรักษามะเร็งปอดพัฒนาไปมาก ทั้งยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า และยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน หากร่างกายของผู้ป่วยตอบสนองต่อยารักษาอย่างดีและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยยืดระยะเวลาการใช้ชีวิตของผู้ป่วยได้ถึง 2-3 ปี แต่การรักษามะเร็งปอดในกลุ่มผู้ป่วยระยะลุกลามจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการใส่ท่อค้ำหลอดลมเพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วยก่อน เพราะช่วงที่ผู้ป่วยไม่สามารถหายใจได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตลงภายในไม่กี่นาที ในปี 2565 ที่ผ่านมา มูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้ให้การช่วยเหลือผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใส่ท่อค้ำหลอดลมแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์กว่า 10 ราย แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ต้องการเข้ารับการรักษาในการใส่ท่อค้ำหลอดลมเพื่อบรรเทาอาการทรมานจากเหนื่อยหอบแต่ไม่สามารถเข้าถึงบริการนี้ได้”
อีกหนึ่งกลุ่มโรคเรื้อรังที่มีจำนวนผู้ป่วยไทยเพิ่มมากขึ้นในทุกปีนั่นคือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง ผศ.พญ.พิณทิพย์ งามจรรยาภรณ์ สาขาวิชาโรคภูมิแพ้อิมมูโนวิทยาและโรคข้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “โรคแพ้ภูมิตัวเองคือโรคที่ร่างกายของผู้ป่วยมีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติและทำลายอวัยวะภายในร่างกายตนเอง สาเหตุของโรคมาจาก 2 ปัจจัยร่วม ได้แก่ 1) พันธุกรรมเสี่ยง และ 2) สิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยกระตุ้น เช่น พฤติกรรมการสูบบุหรี่ และการติดเชื้อของแบคทีเรียในช่องปาก เป็นต้น แต่กลุ่มโรคแพ้ภูมิตัวเองนั้นไม่ได้มีแค่โรคพุ่มพวง หรือ SLE (Systemic Lupus Erythematosus) อย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ เพราะกลุ่มโรคนี้ยังประกอบไปด้วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) โรคผิวหนังแข็ง (Scleroderma) และโรคหลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis) โดยในแต่ละโรคนั้นผู้ป่วยจะมีช่วงอายุที่หลากหลาย โดยเฉพาะโรคพุ่มพวงที่เมื่อก่อนมักจะพบในกลุ่มผู้หญิงที่อายุน้อย แต่ปัจจุบันก็สามารถพบได้ในกลุ่มผู้ชายมากขึ้น ในระยะหลังมานี้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มโรคแพ้ภูมิตัวเองเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีทางการแพทย์และแนวทางในการรักษาที่ทันสมัย อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงการรักษายังถือว่าค่อนข้างจำกัด เนื่องจากจำนวนของแพทย์เฉพาะทางโรคแพ้ภูมิตัวเองยังมีไม่เพียงพอที่จะรองรับการรักษาของคนไทยทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงปัจจัยด้านค่าใช้จ่ายที่มีราคาสูง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และจำเป็นต้องใช้สารชีวภาพ (Biologic Agents)”
ในมุมมองของ พรทิพย์ ผู้ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง หนึ่งในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดอักเสบที่ได้รับการสนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจากมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวว่า “ในช่วงปี 2553 เริ่มมีอาการปวดตาข้างซ้ายจึงไปหาหมอที่โรงพยาบาลจังหวัดนครสวรรค์ แต่อาการดีขึ้นแค่ช่วงหนึ่งก็กลับมาปวดตาอย่างรุนแรง จึงถูกส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลรามาธิบดี คุณหมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดอักเสบ ตอนนั้นมีก้อนเนื้อบริเวณหลังตาจึงต้องผ่าตัดเพื่อนำก้อนเนื้อและลูกตาออก หลังจากนั้นก็พบอาการผิดปกติที่หลายอวัยวะจึงทำให้ต้องรักษาอย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาลรามาธิบดีตลอด 10 ปี โดยได้เข้ารับการผ่าตัดมากกว่า 10 ครั้ง ช่วงที่ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลไม่มีรายได้เลย แต่โชคดีที่ได้รับเงินทุนช่วยเหลือจากมูลนิธิรามาธิบดีฯ ช่วยแบ่งเบาภาระค่ารักษาพยาบาลเกือบทั้งหมด ภายหลังการรักษารู้สึกเหมือนได้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานของโรคร้าย แม้จะเหลือดวงตาขวาเพียงข้างเดียวแต่ก็ดีใจที่ยังมีชีวิต มีโอกาสได้ใช้เวลากับครอบครัวและหลานรัก ทุกวันนี้ยังคงเดินทางมาติดตามอาการที่โรงพยาบาลรามาฯ ขอขอบคุณคุณหมอและพยาบาลที่โรงพยาบาลรามาฯ ที่ให้ความช่วยเหลือและให้การรักษาอย่างเต็มที่ รวมถึงให้กำลังใจอย่างดีมาโดยตลอด ทำให้รู้สึกว่าไปโรงพยาบาลไหนก็ยังไม่ดีเท่าโรงพยาบาลรามาธิบดี”
มูลนิธิรามาธิบดีฯ มุ่งมั่นที่จะมอบโอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีและมีประสิทธิภาพให้กับผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ภายใต้ “โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้” เพื่อระดมเงินทุนสนับสนุนงบประมาณท่อค้ำหลอดลมให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิการรักษา จำนวน 1,000,000 บาท และสนับสนุนงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง จำนวน 2,000,000 บาท เพื่อต่อชีวิตให้กับผู้ป่วยที่ยังรอคอยความช่วยเหลือ
และส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดีของคนไทย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “การให้” ที่ยิ่งใหญ่ ร่วมบริจาคกับมูลนิธิรามาธิบดีฯ