Last updated: 19 ก.ย. 2566 | 317 จำนวนผู้เข้าชม |
ไบโอเทค - สวทช. จับมือ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ พัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ รับมือโลกรวนในอนาคต พร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์
ศูนย์พันธุวิศกรรมและเทคโนโลยีทางชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงาน “NSTDA – KU Rice Field Day 2032” แสดงพันธุ์ข้าวใหม่ที่ทนต่อสภาวะโลกรวนจากเอลนีโญ ทนร้อน ทนแล้ง ทนน้ำท่วม ทนเค็ม โดยนำนวัตกรรมปรับปรุงพันธุ์ข้าวด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่พัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ พร้อมเผยแพร่สู่เกษตรกร และยังคงคุณค่าทางโภชนาการตามความต้องการของตลาด ระหว่างวันที่ 18 -19 กันยายนนี้ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ. นครปฐม
ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. จัดงาน NSTDA-KU Rice Field Day 2023 เพื่อแสดงศักยภาพสายพันธุ์ข้าวดีเด่นรับมือกับเอลนีโญที่มีการเปลี่ยนแปลงอากาศแบบสุดขั้ว ซึ่งพัฒนาด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์ข้าวแบบแม่นยำในภาคสนามแปลงนา โดยมุ่งเน้นให้เกิดการนำสายพันธุ์ข้าวไปใช้ประโยชน์สาธารณะและเชิงพาณิชย์อย่างรวดเร็ว และเปิดห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ และห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี แสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านจีโนมทางการเกษตร เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวและพืชอื่นๆ ที่รวดเร็วตามต้องการ เท่าทันบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรของไทย การจัดงานครั้งนี้จะเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์ข้าวแบบแม่นยำ และจัดแสดงสายพันธุ์ข้าวใหม่ที่มีคุณสมบัติดีเด่นที่เกิดจากผลงานวิจัยร่วมกันของทั้งสองหน่วยงานมานานกว่า 20 ปี ให้กับนักวิชาการจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และเกษตรกร สามารถนำเอาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และ สายพันธุ์ข้าวดังกล่าวกระจายไปสู่เกษตรกรผู้ปลูกและผู้ประกอบการเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตามที่ผู้บริโภคและตลาดต้องการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้
สำหรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการปลูกข้าวของเกษตรกร โดยเฉพาะพื้นที่ที่ปลูกข้าวหลักของประเทศ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคเหนือ จึงเป็นพื้นที่ที่เราให้ความสำคัญที่อยากให้เกษตรกรเลือกสายพันธุ์ข้าวที่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เกษตรกรเจอ ฉะนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันจึงจะประสบผลสำเร็จ รวมถึงเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อมุ่งสร้างความร่วมมือในเชิงสาธารณประโยชน์และเชิงพาณิชย์ต่อไป
ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า งาน NSTDA-KU Rice Field Day 2023 เป็นครั้งแรกที่หน่วยงานทั้งสองนำสายพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ที่เกิดจากการพัฒนาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไบโอเทค และหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมการข้าว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแหล่งทุนต่างๆ ทั้งในประเทศ เช่น สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และต่างประเทศ เช่น Rockefeller Foundation, The Generation Challenge Programme (GCP) มาจัดแสดง รวมทั้งโชว์เทคโนโลยีและนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์พืชสมัยใหม่ เป็นพันธุ์ข้าวที่ลดผลกระทบสภาพอากาศที่แปรปรวนจากเอลนีโญ และลานีญา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการผลิตข้าวของประเทศ
ดังนั้นพันธุ์ข้าวเพื่ออนาคตรับโลกรวนนี้ มีคุณสมบัติต้านทานสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้แก่ ทนร้อน ทนแล้ง ทนน้ำท่วม ทนเค็ม ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ต้านทานโรคไหม้ และโรคขอบใบแห้ง ซึ่งพร้อมแล้วที่จะเผยแพร่สู่เกษตรกร และเป็นสายพันธุ์ข้าวศักยภาพสูงที่พร้อมให้หน่วยงานต่างๆ นำไปวิจัยต่อยอด รวมถึงเป็นงานแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาพันธุ์ข้าวและการนำไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ การนำเสนอความก้าวหน้าทางจีโนมิกส์ และการให้บริการเชิงวิชาการ ซึ่งเน้นข้าวและพืชสำคัญทางเศรษฐกิจรวมทั้งพืชมูลค่าสูง เทคโนโลยีการประเมินลักษณะอย่างรวดเร็วโดยใช้ภาพถ่ายและระบบดิจิทอล เทคโนโลยีการวินิจฉัยโรคข้าวด้วยภาพถ่าย และการให้บริการประเมินลักษณะ biotic & abiotic stress ซึ่งเป็นการประเมินลักษณะความเครียดของพืชจากสิ่งแวดล้อมสำหรับการปรับปรุงพันธุ์ข้าว เช่น ต้านทานโรคและแมลง ทนร้อน ทนน้ำท่วม เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีการจัดแสดงระบบการคัดเลือกพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ RiceFit การศึกษาการใช้น้ำของข้าวและ greenhouse gas emission ในนาข้าวของประเทศ รวมถึงชีวภัณฑ์ต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ในระบบการผลิตข้าวอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย ทั้งนี้มุ่งหวังให้การจัดงานนี้มีส่วนสนับสนุนการขับเคลื่อนภาคเกษตรของประเทศไทยรองรับ climate change และสังคมผู้สูงอายุ ให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยและเป็นไปตามความต้องการของตลาด ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาต่อยอดแบบก้าวกระโดด และนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนต่อไป
สำหรับพันธุ์ข้าวรับโลกรวนที่จัดแสดง ประกอบด้วย พันธุ์ที่มีความต้านทานต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้แก่ ทนแล้ง ทนน้ำท่วม ทนเค็ม ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ต้านทานโรคไหม้ และต้านทานโรคขอบใบแห้ง เช่น พันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์ทนน้ำท่วม / พันธุ์ข้าวหอมนาเล ทนน้ำท่วม ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ต้านทานโรคขอบใบแห้ง / พันธุ์ข้าวหอมจินดา ต้านทานโรคขอบใบแห้ง / พันธุ์ข้าวธัญญา6401 ต้านทาน เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ต้านทานโรคขอบใบแห้ง / พันธุ์ข้าวหอมสยาม ทนแล้ง ต้านทานโรคไหม้ / พันธุ์ข้าวหอมสยาม 2 ทนน้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งพันธุ์ข้าวเหล่านี้พร้อมแล้วที่จะต่อยอดใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะ เชิงพาณิชย์ และเผยแพร่สู่เกษตรกร นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ข้าวใหม่อื่นๆ ที่พร้อมจะขึ้นทะเบียนพันธุ์ ทั้งข้าวโภชนาการสูง ข้าวหอมพื้นนุ่ม พื้นแข็ง ทั้งต่อช่วงไวแสงและไม่ไวต่อช่วงแสง รวมทั้งข้าวเหนียวอีกด้วย โอกาสนี้ ยังมีการเปิดให้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการด้านข้าวที่ตั้งอยู่ในศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ได้แก่ ห้องแล็บดีเอ็นเอเทคโนโลยี ห้องแล็บวิเคราะห์เอกลักษณ์ดีเอ็นเอข้าวไทยเพื่อการส่งออก เช่น ความหอมของข้าว และห้องแล็บวิเคราะห์จีโนม (Genotyping Lab) ที่ศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรม
ดร.วินิตชาญ รื่นใจชน หัวหน้าทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ ไบโอเทค สวทช. และ ดร. ศิวเรศ อารีกิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว เปิดเผยว่า ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ ไบโอเทค และศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มีความพร้อมด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ อุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย สำหรับงานวิจัยด้านชีวโมเลกุล โรงเรือนปลูกพืชทดลองสำหรับงานประเมินลักษณะต่าง ๆ ห้องเย็นเก็บเมล็ดพันธุ์และแปลงทดลองขนาดเล็กสำหรับงานคัดเลือกไปจนถึงแปลงขนาดใหญ่สำหรับผลิตเมล็ดพันธุ์ ที่ผ่านมาได้สร้างองค์ความรู้ในการสืบหาและระบุยีนที่มีความสำคัญในการพัฒนาพันธุ์ข้าว และระบบปรับปรุงพันธุ์ข้าว Rice Breeding Platform รวมทั้งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้มีคุณสมบัติตามความต้องการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และเป็นศูนย์กลางของการใช้เทคโนโลยีด้าน Marker Assisted Selection (MAS) ในระดับประเทศและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มุ่งเน้นสร้างความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์ เน้นพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว เน้นพัฒนาพันธุ์ข้าวตามความต้องการของผู้ผลิตและผู้บริโภค และข้าวที่มีคุณสมบัติโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพผู้บริโภค พันธุ์ข้าวที่พัฒนาขึ้นมีความทนทานต่อโรค แมลงศัตรูพืช และปรับตัวได้ดีต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำและศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวมีบริการวิชาการ AgriOmics ในหลายส่วน เช่น ห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี ให้บริการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของพันธุ์ข้าวหอมมะลิและพันธุ์ข้าวต่าง ๆ เพื่อการส่งออกและรองรับการวิจัย การให้บริการตรวจสอบการปลอมปนของสิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรม รวมถึงยังมีบริการใหม่ด้านการวิเคราะห์จีโนมพืช ได้แก่ การวิเคราะห์ Whole Genome Sequencing (WGS), Transcriptome sequencing (RNA-seq) และ Metagenome sequencing เพื่อการสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานที่ครอบคลุมด้าน Agri-genomics (พันธุศาสตร์พืช)