Last updated: 31 ส.ค. 2566 | 459 จำนวนผู้เข้าชม |
แพทย์ รพ.วิมุต ชี้ปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์-แนะแนวทางการดูแลให้ปลอดภัยทั้งแม่และลูก
เชื่อว่าหลาย ๆ ครอบครัวที่วางแผนจะมีลูกต่างเข้าใจว่าการจะตั้งครรภ์ให้ปลอดภัยและมีลูกสักคนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ นอกจากคุณพ่อคุณแม่จะต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรงระหว่างเตรียมมีลูกแล้ว อีกเรื่องที่พ่อแม่กังวลคือ กลัวว่าโรคประจำตัวของตนเอง จะส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์แข็งแรงของลูกน้อยในครรภ์นั่นเอง และ 'โรคหัวใจ' ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่ส่งผลต่อสุขภาพครรภ์ของคุณแม่ จึงต้องอยู่ในการดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ วันนี้ นพ.สุวาณิช
เตรียมชาญชูชัย อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจ ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด รพ.วิมุต จึงมาชวนรู้จักโรคหัวใจ พร้อมแนะนำแนวทางการดูแลตัวเองสำหรับผู้หญิงที่เป็นโรคหัวใจแต่อยากเป็นคุณแม่ เพื่อให้ลูกน้อยลืมตาดูโลกอย่างปลอดภัย ลดอันตรายต่อทั้งคุณแม่และทารกตัวน้อย
รู้จัก 'โรคหัวใจ' โรคที่ทุกคนเป็นได้
“โรคหัวใจ คือภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นต่อหัวใจ ส่งผลให้การบีบตัวและการสูบฉีดเลือดของหัวใจผิดปกติ โดยทั่วไปโรคหัวใจสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ 1.โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ทำให้เลือดไปเลี้ยงที่หัวใจไม่พอ 2. โรคกล้ามเนื้อหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจโตจากความดันโลหิตสูง ที่ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไม่มีประสิทธิภาพ 3. โรคลิ้นหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจตีบ ซึ่งทำให้หัวใจทำงานหนัก 4. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะผิดปกติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ ซึ่งโรคหัวใจนั้นสามารถเกิดได้จากทั้งกรรมพันธุ์และพฤติกรรมส่วนตัว เช่น การกินอาหารที่เค็มหรือมีไขมันเยอะมากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดโรคหัวใจโตจากความดันโลหิตสูงหรือโรคเส้นเลือดในหัวใจตีบ อันเกิดจากการสะสมของคอเลสเตอรอลที่มากเกินไป” นพ.สุวาณิช เตรียมชาญชูชัย กล่าวว่า “โรคหัวใจจากพฤติกรรมบางประเภทจะไม่ส่งต่อไปยังลูกในครรภ์ แต่โรคทางพันธุกรรมบางอย่าง เช่น โรคผนังหัวใจรั่ว โรคลิ้นหัวใจ มีโอกาสที่จะคุณแม่ส่งโรคต่อไปยังลูกน้อยได้ ซึ่งคนที่เตรียมเป็นคุณแม่จะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์เพื่อเข้าใจความเสี่ยงที่เป็นอันตรายเหล่านี้”
‘โรคหัวใจ’ เป็นแล้วตั้งครรภ์ได้ไหม
“ต้องอธิบายก่อนกว่า โรคหัวใจนั้นแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ผู้ป่วยยังทำงานได้ปกติแม้เป็นโรคหัวใจ ระยะที่ 2 คือ ผู้ป่วยที่ทำงานปกติแล้วเหนื่อยเล็กน้อย ระยะที่ 3 คือ ทำงานเล็กน้อยก็เหนื่อย และระยะที่ 4 นั่งอยู่เฉย ๆ ก็เหนื่อย ไม่สามารถทำกิจกรรมอะไรได้เลย โดยในระยะที่ 1 หรือ 2 คุณแม่ที่มีโรคหัวใจสามารถตั้งครรภ์ได้ ที่น่ากังวลคือโรคหัวใจระยะที่ 3 และ 4 เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคุณแม่อย่างมาก จำเป็นจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์” นพ.สุวาณิช เตรียมชาญชูชัย อธิบาย
นอกจากนี้ โรคหัวใจบางอย่าง เช่น โรคหัวใจขาดเลือด ก็มีผลต่อลูกในครรภ์ได้เช่นกัน เพราะเลือดสูบฉีดไปเลี้ยงลูกได้น้อยลง ทำให้เด็กโตไม่เต็มวัย ในบางกรณี แพทย์อาจแนะนำให้ยุติการตั้งครรภ์ เพราะหากปล่อยไว้อาจรุนแรงจนทำให้คุณแม่เสียชีวิตได้
แพทย์ชี้ คุณแม่เป็น ‘โรคหัวใจ’ รีบฝากครรภ์-ปรึกษาแพทย์เพื่อลดความเสี่ยง
สำหรับคุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจและกำลังตั้งครรภ์ แพทย์รพ. วิมุต แนะนำให้ไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เพื่อให้แพทย์ประเมินความเสี่ยงและติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้แพทย์ยังแนะนำให้ปรึกษาทั้งสูตินรีแพทย์และแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจไปพร้อมกัน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ที่จำเป็นต้องทานยาระหว่างตั้งครรภ์จะต้องปรึกษาแพทย์และเภสัชกรถึงยาที่ใช้ได้และใช้ไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ พวกยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาแก้ปวดหัว ยาพารา สามารถกินได้ตามปกติ ไม่มีอันตรายต่อลูกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม สำหรับยาจำพวกยาเฉพาะโรค เช่น ยาโรคหัวใจ ยาความดันโลหิตสูง ยาลดไขมัน ล้วนเป็นกลุ่มยาที่มีผลต่อสุขภาพครรภ์ คุณแม่จึงจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เสมอเมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องกินยากลุ่มดังกล่าว
นพ.สุวาณิช เตรียมชาญชูชัย เล่าถึงการคลอดที่ปลอดภัยของผู้เป็นโรคหัวใจว่า “คุณแม่ที่มีโรคหัวใจหลาย ๆ คนไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้ เพราะหากใช้แรงเบ่งมาก ๆ ระหว่างคลอดลูกอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้ จึงต้องปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีที่ปลอดภัยที่สุด เบื้องต้นหากคนไข้เป็นโรคหัวใจในระยะที่ 1 หรือ 2 ซึ่งเป็นระยะที่ปลอดภัยก็อาจคลอดธรรมชาติได้ แต่หากอยู่ในระยะที่ 3 และ 4 ซึ่งมีอาการเหนื่อยง่าย การผ่าคลอดจะเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยกว่า” โดยนายแพทย์ รพ. วิมุต ทิ้งท้ายว่า “ผู้หญิงที่เป็นโรคหัวใจนั้นสามารถตั้งครรภ์ได้ เพียงแต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ที่ชำนาญการ ทั้งก่อนและระหว่างการตั้งครรภ์ เพื่อให้คุณแม่และทารกปลอดภัยและแข็งแรง”