เชิญชมการแสดง “โขนพบโนรา” ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง 4-5 ส.ค.นี้

Last updated: 13 ส.ค. 2566  |  128 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เชิญชมการแสดง “โขนพบโนรา” ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง 4-5 ส.ค.นี้

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักการสังคีต ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสมาคมแม่บ้านทหารบก สาขากองทัพภาคที่ 4 ขอเชิญชมสังคีตสัญจร “กิจกรรมโขนพบโนรา มรดกวัฒนธรรมบนวิถีสืบสานและสร้างสรรค์” วันที่ 4 - 5 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมฟรี สำรองที่นั่งได้แล้วที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง โทร. 0 7520 1712 หรือ facebook page: Prince of Songkla University, Trang Campus

โครงการสังคีตสัญจร “กิจกรรมโขนพบโนรา มรดกวัฒนธรรมบนวิถีสืบสานและสร้างสรรค์” กำหนดจัดการแสดงระหว่างวันที่ 4 - 5 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง โดยวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม 2566 เวลา 14.00 น. การแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์ ชุด พระจักรีปราบกลียุค วันเสาร์ที่ 5 สิงหาคม 2566 เวลา 14.00 น. การแสดงโขนพบโนรา เรื่อง รามมกุฎอยุธยา โดยมี ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2564 เป็นผู้แสดงในบทบาทโนรา พระอินทร์แปลง และนายปกรณ์ พรพิสุทธิ์ นาฏศิลปิน กรมศิลปากร แสดงเป็นพระราม ร่วมด้วยนาฏศิลปินจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร

ทั้งนี้ กรมศิลปากร โดยสำนักการสังคีต ได้ดำเนินโครงการจัดการแสดงนาฏศิลป์และดนตรีสัญจรไปยังภูมิภาค ดุจเดียวกับ “ยกโรงละครแห่งชาติออกไปหาประชาชน” โดยการวิวัฒน์ปรับปรุงบทสำหรับการแสดงโขนให้รัดกุมขึ้น เพื่อดำเนินเรื่องไปอย่างรวดเร็ว และมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย ด้านฉาก แสง สี เสียง มาประกอบการแสดง เพื่อเพิ่มพูนอรรถรสให้งดงามตระการตา รวมทั้งขยายโอกาสในการแสดงออกสู่สายตาประชาชนมากขึ้น ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะเป็นการแสดงครั้งใหญ่ของสำนักการสังคีต ที่บ่งบอกถึงการขยายบทบาทและวิสัยทัศน์ของกรมศิลปากรที่ก้าวล้ำกว่าเดิม โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง และสมาคมแม่บ้านทหารบก สาขากองทัพภาคที่ 4 นำ “โขน” และ “โนรา” ซึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้ (Intangible Heritage) ของมวลมนุษยชาติที่ได้รับการประกาศรับรองอย่างเป็นทางการจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) มาต่อยอดเป็นสื่อวัฒนธรรมในการยึดโยงเชื่อมไทยให้เป็นหนึ่งเดียว ภายใต้แนวคิด “โขนเชื่อมไทย” ความหลากหลายของวัฒนธรรมพื้นถิ่นบนแผ่นดินเดียวกัน

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้