Last updated: 14 ก.ค. 2566 | 356 จำนวนผู้เข้าชม |
"สิงห์ เอสเตท" เดินหน้าเปิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ “เอส อ่างทอง” รองรับดีมานด์ Eco Factory & Green industry ดันสู่ทำเลยุทธศาสตร์การลงทุนใหม่
"นิคมเอส อ่างทอง" โดยสิงห์ เอสเตท เตรียมเปิดตัวเต็มรูปแบบปลายไตรมาส 3 ปีนี้ ตอกย้ำการเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ Eco Factory & Green industry บนพื้นที่ยุทธศาสตร์จังหวัดอ่างทอง ล่าสุดการก่อสร้างภาพรวมคืบหน้าไปแล้วกว่า 90% พร้อมเปิดสำนักงาน กนอ. แบบ One stop service ภายในพื้นที่นิคมฯ รองรับการประกอบกิจการด้านนิคมอุตสาหกรรมครบวงจร ขณะที่โรงไฟฟ้าอีก 2 แห่ง กำหนดเสร็จพร้อมจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม โดยสามารถรับรู้รายได้ทันที พร้อมมอบสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับกลุ่มลูกค้า SME
นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ ‘S’ กล่าวถึงความคืบหน้าของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม หลังจากที่สิงห์ เอสเตท ได้ขยายธุรกิจของบริษัทไปสู่ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน โดยได้เปิดตัวนิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง ไปเมื่อไม่นานมานี้ ล่าสุดการปรับพื้นที่โครงการและงานระบบมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 90% โดยระหว่างพัฒนาพื้นที่ได้รับความสนใจจากบริษัทต่างๆ เข้ามาดูพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจโรงไฟฟ้า 2 แห่งในพื้นที่นิคมฯ จะสามารถจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบได้ช่วงปลายไตรมาส 3 และคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ทันที
นอกจากนี้เอส อ่างทอง ยังได้ร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อเปิดศูนย์บริการแบบครบวงจรด้านการประกอบกิจการนิคมฯ อย่างเต็มรูปแบบในเดือนกันยายนนี้
"เอส อ่างทอง" ถูกพัฒนาขึ้นด้วยแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับเกษตร อาหาร และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เพื่อตอกย้ำการเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ Eco Factory & Green industry โดยยึดตามวิสัยทัศน์ของบริษัท คือสร้างความหลากหลายที่สมดุล เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการสนับสนุนชุมชน สังคม และส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน
โดยความคืบหน้าในเฟสแรก งานถนนและระบบรางระบายน้ำในพื้นที่โดยรอบนิคมฯ ทั้งสายหลักและสายรองก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ปัจจุบันอยู่ในเฟสที่ 2 ซึ่งจะแล้วเสร็จในไตรมาสนี้ ขณะที่แนวกำแพงป้องกันน้ำท่วมรอบพื้นที่โครงการ ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจหลักที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดจากเหตุอุทกภัย ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการที่ระดับความสูง 10.5 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยระบบรางระบายน้ำและแนวกำแพงป้องกันน้ำท่วมรอบพื้นที่นิคมฯ นี้ได้ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสมตามข้อกำหนดและแนวทางในการระบายน้ำของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสอดคล้องกับผลการศึกษาด้านอุทกศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อป้องกันน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพและที่สำคัญไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชนรอบข้าง
ด้านระบบผลิตน้ำประปา และระบบบำบัดน้ำเสีย ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วโดยสามารถผลิตน้ำประปาได้ถึง 9,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ด้วยระบบอัลตร้าฟิลเทรชั่น (Ultra-Filtration Water Treatment Process) ที่สามารถกรองสิ่งสกปรกได้ละเอียดมากกว่า 0.1 ไมครอน ส่งผลให้น้ำประปาที่นิคมฯ ผลิตได้ มีคุณภาพสูง สะอาด เหมาะสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเป็นอย่างดี พร้อมกันนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำความจุ 6.12 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพื่อสำรองน้ำที่เพียงพอกับความต้องการของผู้ประกอบการทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ส่วนระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นระบบที่ใช้กระบวนการ Activated Sludge ที่สามารถรองรับและบริหารจัดการน้ำเสียได้ที่ 6,610.9 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมบ่อพักน้ำทิ้งขนาดใหญ่จำนวน 2 บ่อ พื้นที่รวมกว่า 13,000 ลูกบาศก์เมตร พร้อมระบบบริหารจัดการกาก ตะกอนที่เหมาะสมตามข้อกำหนดของกระทรวงอุตสาหกรรม
ในส่วนความคืบหน้างานก่อสร้างโรงไฟฟ้าบี.กริม เพาวเวอร์ (อ่างทอง) 2 และ 3 ซึ่งตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง บนพื้นที่กว่า 77 ไร่ ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จกว่า 80% โดยมีกำหนดจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในช่วงต้นไตรมาส 4 ปี 2566 นี้ ให้กำลังการผลิตสูงสุด 280 เมกะวัตต์ ที่สามารถรับรู้รายได้ได้ทันที โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรง เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม หรือ Co-Generation Power Plant ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีข้อดีคือให้กำลังการผลิตสูง มีความยืดหยุ่นในการเดินเครื่อง มลภาวะต่ำ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญผลผลิตที่ได้เป็นกระแสไฟฟ้าคาร์บอนต่ำ (Low carbon emission) ซึ่งจากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาช่วยจัดการการอย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาตั้งโรงงานในนิคมฯ มีต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำกว่าทั่วไป ประมาณ 3%
นางฐิติมา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากศักยภาพของจังหวัดอ่างทองที่มีความโดดเด่นเรื่องทำเลที่ตั้งอยู่แล้ว ตัวนิคมเอส อ่างทอง ยังอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ที่เป็นจุดศูนย์กลางระหว่างแหล่งวัตถุดิบและเส้นทางการขนส่ง ซึ่งสิงห์ เอสเตท ตั้งใจออกแบบนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดธุรกิจได้อย่างเต็มศักยภาพ ควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน เพื่อก้าวไปสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ Eco Factory & Green industry ของไทยต่อไป
นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SME) ในช่วงระยะเวลา Pre-sale 3 เดือน (กรกฎาคม - กันยายน 2566) ซื้อที่ดินขนาดใดก็ได้ในราคาพิเศษ หรือรับส่วนลดพิเศษหากมาเป็นกลุ่มธุรกิจร่วมกันจับจองพื้นที่ พร้อมทั้งการอำนวยความสะดวกแบบ One stop services ประสานงานขอใบอนุญาตฯ ประกอบกิจการและก่อสร้างโรงงานตามแบบที่ต้องการ ช่วยสนับสนุนพื้นที่สำหรับโปรโมทสินค้าร่วมกับลูกค้าของนิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง รวมถึงสิทธิ์การเข้าร่วมในกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ ของนิคมฯ อาทิ กิจกรรมร่วมกับหน่วยงานรัฐ งานจัดแสดงสินค้า กิจกรรมเพื่อชุมชน และงานสัมมนา