Last updated: 5 เม.ย 2566 | 290 จำนวนผู้เข้าชม |
เมื่อเข้าสู่เดือนเมษายน นอกจากคนไทยจะนึกถึงวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้ว เดือนเมษาฯ ยังถือเป็นช่วงพีคของฤดูร้อนบ้านเราอีกด้วย โดยหลายพื้นที่ในประเทศไทยอากาศร้อนจัดจนอุณหภูมิแตะ 42 องศาเซลเซียส ทำให้หลายๆ คน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัดนาน ๆ เพราะกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ วันนี้ นพ.ราชรัฐ ปวีณพงศ์ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจ ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลวิมุต ชวนมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับโรคที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงในวงกว้าง อย่าง ฮีตสโตรก (Heatstroke) หรือโรคลมแดด พร้อมชวนส่องกลุ่มเสี่ยง วิธีสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายเพื่อให้สามารถรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที เพราะภัยร้ายจากความร้อนนี้ เป็นอันตรายถึงชีวิต
“ฮีตสโตรก” คืออะไร ใครเสี่ยงบ้าง
“ฮีตสโตรก (Heatstroke) หรือโรคลมแดด เป็นภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทัน ทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญต่าง ๆ ในร่างกาย เมื่อมีอาการจะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากโรคนี้มีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก” นพ. ราชรัฐ ปวีณพงศ์ อธิบาย โดยฮีตสโตรก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1.Classic Heatstroke คือ ลมแดดที่ไม่ได้เกิดจากการใช้กำลังกายหนัก แต่เป็นเพราะผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัดได้ ซึ่งมักพบในเด็กอายุน้อย หรือผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัว เมื่อเจออุณหภูมิสูง ร่างกายก็อาจร้อนขึ้นมาโดยฉับพลัน
2. Exertional Heatstroke คือ ลมแดดที่เกิดจากการออกแรงอย่างหนักเป็นเวลานาน บวกกับอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนหรืออากาศอบอ้าวไม่ถ่ายเท การสวมเสื้อผ้าที่หนาและอึดอัดเกินไป ทำให้ไม่มีการระบายความร้อน
สำหรับกลุ่มเสี่ยงและช่วงอายุที่ควรระมัดระวังการเกิดฮีตสโตรก นพ. ราชรัฐ กล่าวว่า “ฮีตสโตรกเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ ผู้มีภาวะอ้วน เป็นต้น โดยคนที่ออกกำลังกายน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ และมีภาวะขาดน้ำ อาจเสี่ยงมากกว่าคนกลุ่ม ๆ อื่น นอกจากนี้ ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาจิตเวชบางกลุ่ม ยาเสพติดกลุ่ม Amphetamine และ Cocaine ก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดฮีตสโตรกได้ด้วย และที่สำคัญ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงมาก รวมถึงสถานที่ปิดซึ่งอากาศไม่ถ่ายเท ก็ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันจนเป็นอันตรายต่ออวัยวะสำคัญได้”
แพทย์เผยสัญญาณของฮีตสโตรก ทำไมเป็นแล้วถึงเสี่ยงต่อชีวิต
อาการที่บอกว่าเราอาจกำลังเป็นฮีตสโตรกจะมี 3 อาการหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่ 1) อุณหภูมิร่างกายสูงระดับ 40 องศาเซลเซส 2) อาการทางสมอง ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนไป อาจมีอาการเพ้อ สับสน ชัก หรือหมดสติ 3) เหงื่อออกมากสำหรับกลุ่ม Exertional heatstroke หรือ ตัวแดงแต่ผิวแห้ง สำหรับกลุ่ม Classic Heatstroke ส่วนอาการอื่น ๆ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าร่างกายเริ่มมีภาวะแทรกซ้อน คือ หัวใจเต้นเร็ว หายใจไม่ทัน แน่นหน้าอก ปัสสาวะสีเข้ม ปัสสาวะออกน้อย เป็นต้น โดย นพ. ราชรัฐ ปวีณพงศ์ อธิบายว่า “ตามที่กล่าวไปว่าฮีตสโตรก เมื่อเป็นแล้วเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง เพราะเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นฉับพลันและระบายออกไม่ทัน จะส่งผลเสียต่ออวัยวะสำคัญมากมาย เช่น สมองบวม ภาวะชัก ไตวายเฉียบพลันจากภาวะขาดน้ำ ตับวายจากภาวะขาดน้ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว ปอดอักเสบรุนแรง (ARDS) ภาวะเลือดออกง่ายหรือเกิดลิ่มเลือดทั่วร่างกาย (DIC) ตลอดจนกล้ามเนื้อสลาย และแขนขาอ่อนแรง” โดยฮีตสโตรก ยังอาจทำให้อาการโรคประจำตัวของผู้ป่วยแย่ลงได้ เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น
เป็นฮีตสโตรกแล้วหายได้ไหม รู้จักวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นและแนวทางการป้องกัน
“ฮีตสโตรกเป็นแล้วหายได้ หัวใจสำคัญคือรีบทำการรักษาอย่างเร่งด่วน และรีบลดอุณหภูมิร่างกายให้เร็วที่สุด แนวทางการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ได้แก่ พาผู้ป่วยเข้าที่ร่มและอยู่ในที่เย็นและมีอากาศถ่ายเท ถอดเสื้อผ้าหนาและคลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามร่างกาย นอนลงและยกขาสูงเพื่อเลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจ หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัว ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เมื่อถึงโรงพยาบาล ต้องแอดมิตเป็นผู้ป่วยที่ ICU เพื่อสังเกตอาการใกล้ชิด ให้น้ำเกลือ และปรับอุณหภูมิร่างกายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมโดยเร็ว พร้อมติดตามสัญญาณชีพและการทำงานของอวัยวะภายใน เช่น หัวใจ ตับ ไต และสมอง จนผู้ป่วยเข้าสู่สภาวะปกติ ส่วนแนวทางป้องกันฮีตสโตรก คือ การดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน สวมใส่เสื้อผ้า ที่โปร่งสบายและขับเหงื่อได้ดี หากต้องเล่นกีฬา หรือออกกำลังกายนานกว่า 1 ชั่วโมง ควรดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อทดแทนเหงื่อที่เสียไป หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในสถานที่ร้อนจัดหรือมีแดดจัด นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสภาพอากาศร้อนจัด” นพ. ราชรัฐ ปวีณพงศ์ จากโรงพยาบาลวิมุต กล่าวทิ้งท้าย