รวมที่เที่ยว "สงกรานต์ภาคเหนือ"

Last updated: 28 มี.ค. 2566  |  234 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รวมที่เที่ยว "สงกรานต์ภาคเหนือ"

ชื่นชอบบรรยากาศฉลองสงกรานต์เมืองเหนือก็มีมาแนะนำหลากหลายจังหวัดด้วยกันนะคะ ใครมีโอกาสไปเที่ยวจังหวัดไหนก็อย่าลืมแวะไปสัมผัสความสนุกสนานกันได้เลย เริ่มกันที่

"ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่" วันที่ 13 – 16 เมษายน 2566 ณ ข่วงประตูท่าแพ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่

เชิญร่วมพิธีทำบุญตักบาตร เมืองเจียงใหม่ งานประเพณีสมโภชพระพุทธสิงหิงค์ ขบวนแห่การประกวดแม่หญิงขี่รถถีบกางจ้อง พิธีหุงน้ำศักดิ์สิทธิ์ สวดพุทธมนต์ กิจกรรมตานตุงไชย 726 ปีเมืองเชียงใหม่ การแสดงศิลปะพื้นบ้านล้านนา กิจกรรมสืบสานฮีตฮอย ย้อนรอยปี๋ใหม่เมือง

"งานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมือง นครลำปาง" วันที่ 8 - 13 เมษายน 2566 ณ ข่วงนคร ห้าแยกหอนาฬิกา และวัดปงสนุก อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง 

ร่วมพิธีบวงสรวงการจัดงานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมือง นครลำปาง การประกวดเทพบุตร เทพธิดา สลุงหลวง พิธีอัญเชิญพระเจ้าแก้วดอนเต้า เข้าสู่เมืองนครลำปาง ขบวนแห่สลุงหลวง


"ประเพณีแห่ช้างบวชนาคไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว" วันที่ 7 เมษายน 2566 ณ วัดหาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

เที่ยวงานประเพณีแห่ช้างบวชนาค หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า บวชนาคแห่ช้าง ของชาวไทยพวนที่มีประวัติมายาวนานกว่า 179 ปี ชมขบวน "นั่งช้าง บวชนาค" ของชุมชนชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว ตระการตากับช้างและนาคที่ได้รับการตกแต่งอย่างมีเอกลักษณ์ ชมขบวนช้างข้ามแม่น้ำยม สนุกสนานเล่นสาดน้ำกับขบวนแห่นาคของชุมชนชาวไทยพวน

"ประเพณีสรงน้ำโอยทาน สงกรานต์ศรีสัชนาลัย" วันที่ 8-12 เมษายน 2566 ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระยาลิไท และอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย

ประเพณีสรงน้ำโอยทาน สงกรานต์ศรีสัชนาลัย ที่ได้จัดขึ้นตามหลักฐาน ในศิลาจารึก “คนสุโขทัย มักทรงศีล มักโอยทาน” ร่วมพิธีบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์พระยาลิไทและบูรพกษัตริย์ ณ อนุสาวรีย์พระยาลิไท, พิธีบวงสรวงศาลหลักเมืองศรีสัชนาลัย ณ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย, ตลาดโบราณและกิจกรรมการแสดงดนตรี, ชมขบวนแห่วัฒนธรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่กว่า 10 ชุมชน (ชมขบวนแห่วันที่ 12 เมษายน 2566)

"ประเพณีสงกรานต์ ดอกลมแล้งบาน สงกรานต์เมืองแป้ นุ่งหม้อห้อมแต้งามต๋า”  วันที่ 13 – 17 เมษายน 2566 ณ สวนสุขภาพ 90 ปี และบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดแพร่

ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรอุทิศกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วและพิธีถวายเจดีย์ทรายโดยการ ปักตุง 12 ราศี,ตุงช่อ,ตุงไส้หมู,ตุงตะเข็บ หรือตุงไชย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เล่นน้ำสงกรานต์, มีขบวนแห่นางสงกรานต์ และการประกวดนางสงกรานต์, มีพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่

"ประเพณีแห่ค้างดอกไม้และงานสงกรานต์" วันที่ 13–18 เมษายน 2566 ณ วัดบ้านไร่ อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี

เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยเชื้อสายลาวในพื้นที่อำเภอบ้านไร่ โดยการนำดอกไม้ต่าง ๆ ที่หาเก็บได้ในท้องถิ่นมาจัดประดับตกแต่งที่ค้างไม้ไผ่ที่เป็นรูปทรงคล้ายเจดีย์ให้มีความสวยงามและแห่เข้าไปที่วัดเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งในขบวนแห่มีการแสดงเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน รวมถึงการละเล่นต่างๆ ภายในวัด


"ประเพณีมหาสงกรานต์มิตรภาพไทย-เมียนมาและมวยคาดเชือก" วันที่ 13 – 15 เมษายน 2566 ณ แม่เมยซิตี้ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

สนุกสนานกับกิจกรรมหลักๆ อาทิ มวยคาดเชือก, การแสดงตะกร้อวงของพม่า (ชินลง), การประกวดนางสงกรานต์แห่งเมียนม่าร์/นางนพมาศลุ่มน้ำเมย,ขบวนแห่ของชนเผ่าแห่งลุ่มน้ำเมย, การแข่งขันการปั่นปอน (ไทย-พม่า)/ป้อเฒ่าตาดี, พิธีตักบาตรเชิงสะพานมิตรภาพ


"WATER WAR CHIANG MAI" วันที่ 16 เมษายน 2566 ณ ลานม่วนใจ๋ / เซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต จังหวัดเชียงใหม่

ต้อนรับการกลับมาของเทศกาลสงกรานต์ ด้วยความมันส์สุดเปียกแห่งปีของภาคเหนือ ทุกตารางเมตรจะต้องลุกเป็นน้ำ พลาดไม่ได้กับมิวสิคเฟสติวัลงานใหญ่งานเดียวของชาวเชียงใหม่! พร้อมปาร์ตี้สงกรานต์กับ 6 ผับดังและร้านอาหารดังตลอด 12 ชั่วโมง นี่จะเป็นครั้งแรกของการเล่นสงกรานต์เชียงใหม่ที่ม่วนหนักจัดเต็มพิกัดที่สุดที่เคยพบกับ TAITOSMITH / THREE MAN DOWN / SLOT MACHINE / POTATO / PALMY / TILLY BIRDS / PAPER PLANES / SLAPKISS / WONDERFRAME / ONLY MONDAY


ขอขอบคุณภาพจาก ททท.สำนักงานเชียงใหม่

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้