"ฟิลิปส์" เปิด 10 เทรนด์เทคโนโลยีด้านเฮลท์แคร์ ปี 2023

Last updated: 28 ก.พ. 2566  |  170 จำนวนผู้เข้าชม  | 

"ฟิลิปส์" เปิด 10 เทรนด์เทคโนโลยีด้านเฮลท์แคร์ ปี 2023

ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ปริมาณงานที่เพิ่มมากขึ้น และความผันผวนทางเศรษฐกิจล้วนเป็นปัจจัยที่ท้าทายผู้ให้บริการทางสาธารณสุขทั่วโลกในการพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงานและคิดค้นรูปแบบการดูแลรักษาผู้ป่วยใหม่ๆ ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ยังตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ได้หันมาให้ความสำคัญกับการยกระดับความเท่าเทียมด้านการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ตลอดจนความจำเป็นในการลดก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมเพื่อการรักษาสุขภาพของโลกเช่นกันเพื่อเป็นการตอบสนองต่อความท้าทายข้างต้น ฟิลิปส์จึงได้รวบรวม 10 เทรนด์เทคโนโลยีเฮลท์แคร์ที่คาดว่าจะมาแรงในปี ค.ศ. 2023 นี้

1. การแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้วยระบบการทำงานอัตโนมัติ (Workflow Automation) และปัญญาประดิษฐ์ (AI)

จากรายงาน Philips Future Health Index 2022 report เผยว่า ปัญหาด้านบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกๆ ของผู้บริหารในวงการเฮลท์แคร์ และหากไม่จัดการกับปัญหานี้อย่างเร่งด่วน ภาวะหมดไฟและการขาดแคลนบุคลากรจะส่งผลให้ระบบสาธารณสุขอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ในด้านรังสีวิทยา มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า นักรังสีวิทยาอย่างน้อยครึ่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาประสบกับภาวะเหนื่อยล้าจากการทำงาน และทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ในขณะที่มีการคาดการณ์ว่า ทั่วโลกจะขาดแคลนเจ้าหน้าที่พยาบาลถึง 13 ล้านคนภายในปี ค.ศ. 2030 นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ยังต้องเผชิญกับงานค้างจากการรักษาปกติที่ถูกพักไว้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดยิ่งทำให้เกิดภาวะตึงเครียดมากกว่าปกติ ซึ่งจากปัญหานี้ จะเห็นว่าผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขได้นำระบบการทำงานอัตโนมัติที่มีเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์

ระบบการทำงานอัตโนมัติ (Automation) เป็นเทรนด์เทคโนโลยีด้านเฮลท์แคร์ที่สามารถช่วยลดภาระงานด้านเอกสารให้กับแพทย์ พยาบาล และนักเทคนิคการแพทย์ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์น้อยลงและมีเวลาอยู่กับผู้ป่วยมากขึ้น นั่นหมายถึงการปรับปรุงกระบวนการทำงานขั้นพื้นฐานที่ให้ผลลัพธ์สูง เช่น การเปิดใช้งานระบบส่งต่อข้อมูลตรวจติดตามผู้ป่วยเข้าสู่ระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์โดยตรง ซึ่งช่วยเพิ่มประสบการณ์ที่ดีและประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้

2. การเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลผ่านการฝึกอบรมและการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

ระบบการทำงานอัตโนมัติสามารถช่วยลดภาระงานที่มากเกินไปในแต่ละแผนกของโรงพยาบาลได้ แต่บุคลากรทางการแพทย์ยังจำเป็นต้องได้รับความรู้และการฝึกอบรมที่เหมาะสมเพื่อให้ทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยพบว่า 1 ใน 5 ของบุคลากรทางการแพทย์ลาออกจากสายงานนี้ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 การฝึกอบรมบุคลากรใหม่ๆ อย่างเพียงพอจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อความต่อเนื่องในการทำงาน ความปลอดภัยและคุณภาพของการดูแลรักษาผู้ป่วย และในอนาคต เราจะเห็นความต้องการ ‘บริการด้านการศึกษา’ เพิ่มมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง รับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นด้านดิจิทัลในวงการเฮลท์แคร์

3. การปฏิบัติงานทางไกล (Remote Operations) ผ่านการทำงานร่วมกันออนไลน์ (Virtual Collaboration)

นี่เป็นหนึ่งในเทรนด์เทคโนโลยีด้านเฮลท์แคร์ที่ถูกนำมาใช้งานมากขึ้นหลังจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัจจุบันได้กลายเป็นเทคโนโลยีหลักในวงการเฮลท์แคร์ เนื่องจากขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์หรือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในพื้นที่ห่างไกลมากขึ้น การทำงานร่วมกันแบบทางไกลยังมีประโยชน์ด้านการแพทย์อื่นๆ เช่น การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน อย่างระบบ Tele-ICU (เทเล-ไอซียู) ช่วยส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยวิกฤติถึงข้างเตียงผ่านการใช้เทคโนโลยีไม่ว่าสถานพยาบาลนั้นจะตั้งอยู่ที่ไหนก็ตาม โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลางสามารถตรวจติดตามอาการของผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) แบบทางไกล ได้สูงสุดถึง 500 เตียงเพื่อสนับสนุนการทำงานของทีมบุคลากรในพื้นที่ โดยผสานเทคโนโลยีแสดงภาพและเสียง (Audio-visual technology), เทคโนโลยีการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ (Predictive analytics) และการแสดงผลข้อมูล (Data visualization) เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีเมื่อจำเป็น

4. โซลูชันด้านสารสนเทศ (Informatics solutions) ที่เป็นกลางและสามารถทำงานร่วมกับหลากหลายเครื่องมือหรือระบบได้

เนื่องจากระบบสาธารณสุขมีการเชื่อมต่อกันมากขึ้น ระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่แตกต่างกันจำเป็นต้องสามารถ 'เชื่อมต่อ' ถึงกันได้เพื่อสร้างประสบการณ์ไร้รอยต่อสำหรับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ตามปกติ โรงพยาบาลจะจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือการแพทย์จากหลากหลายแบรนด์ ซึ่งมักส่งผลต่อการกระจัดกระจายของโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ส่งผลต่อประสบการณ์ด้านสาธารณสุขที่ไม่เชื่อมต่อกัน แนวทางในการแก้ปัญหาคือ การนำโซลูชันด้านสารสนเทศที่เป็นกลางและสามารถทำงานร่วมกับหลากหลายเครื่องมือหรือระบบได้มาใช้มากขึ้นใน ปี ค.ศ. 2023 และในอนาคต

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินและในระยะฟื้นฟู แพลตฟอร์มเชื่อมต่อเครื่องมือแพทย์แบบเป็นกลาง สามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากเครือข่ายของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันเพื่อประมวลผลข้อมูลเชิงลึกและการแจ้งเตือนที่สนับสนุนการดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น และแพลตฟอร์มดังกล่าวยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบ
เวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (EMR) ของโรงพยาบาล รวมถึงเครื่องมือสื่อสารและความร่วมมือทางคลินิกได้อีกด้วย ส่งผลให้บุคลากรในโรงพยาบาลสามารถเห็นภาพรวมเกี่ยวกับอาการและปัจจัยด้านสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละรายได้ เมื่อการส่งต่อข้อมูลระหว่างระบบและอุปกรณ์ง่ายขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการดึงข้อมูลผู้ป่วยจากไซต์และแผนกต่าง ๆ อีกต่อไป

5. เฮลท์แคร์กำลังย้ายไปอยู่บนคลาวด์ (Cloud)

คลาวด์เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่สำคัญในการเชื่อมต่อและบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานไอทีด้านเฮลท์แคร์ เมื่อโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นต้องมีความปลอดภัยระดับสูงและสามารถรองรับข้อมูลปริมาณมากๆ ได้ เพื่อช่วยให้ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขสามารถปรับให้เข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูล ก่อนหน้านี้การประยุกต์ใช้คลาวด์ในวงการเฮลท์แคร์ถือว่าล้าหลังมาก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การประยุกต์ใช้คลาวด์ในวงการเฮลท์แคร์เติบโตอย่างรวดเร็วและได้รับการยอมรับมากขึ้น และน่าจะได้เห็นการนำคลาวด์ไปใช้ทั่วทุกมุมโลกในปี 2023 นี้ และน่าจะได้เห็นการเพิ่มขึ้นของโซลูชัน software-as-a-service (SaaS) ที่ส่งผ่านระบบคลาวด์ตามมา

6. การติดตามอาการผู้ป่วยอย่างไร้รอยต่อทั้งในและนอกโรงพยาบาล

การใช้งานโซลูชันดิจิทัลบนคลาวด์ในวงการสาธารณสุขจะช่วยสนับสนุนการแชร์ข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นและสร้างรากฐานของระบบสาธารณสุขที่สามารถเชื่อมต่อจากโรงพยาบาลไปสู่บ้านผู้ป่วยและชุมชน จากรายงาน Philips Future Health Index 2022 report เผยว่า ผู้บริหารในวงการเฮลท์แคร์เล็งเห็นว่าการดูแลรักษาผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลเป็นสิ่งที่ต้องหันมาให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ รองจากความพึงพอใจและการรักษาบุคลากรทางการแพทย์ในองค์กร การให้การดูแลรักษาอย่างถูกต้องในสถานที่และเวลาที่เหมาะสม เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างประสบการณ์แบบไร้รอยต่อให้กับผู้ป่วยได้

7. มุ่งเน้นที่การส่งมอบบริการทางสาธารณสุขที่ครอบคลุมและเท่าเทียมกันมากขึ้น

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เร่งให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้านเฮลท์แคร์เร็วขึ้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชนบท การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางบางกลุ่ม และทำให้ช่องว่างด้านสุขภาพทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น ความไม่เท่าเทียมด้านการเข้าถึงระบบสาธารณสุขทั้งภายในและระหว่างประเทศ อาทิ อัตราการเจ็บป่วยที่สูงกว่าในบางเชื้อชาติและบางกลุ่มชาติพันธุ์กำลังเป็นที่สนใจมากขึ้น ทำให้ทั่วโลกพยายามหาทางออกในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมในระบบสาธารณสุข จากการรายงาน Future Health Index 2022 report เผยว่าผู้นำในวงการเฮลท์แคร์ของสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญด้านความเท่าเทียมทางสาธารณสุขเป็นอันดับแรก

ต่อจากนี้ สังคมคาดหวังให้องค์กรมีบทบาทสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในการดูแลสุขภาพและเป็นพันธมิตรทางด้านการเงินในการสร้างระบบสาธารณสุขที่เท่าเทียม แพลตฟอร์ม อย่าง Digital Connected Care Coalition สามารถเชื่อมต่อองค์กรภาครัฐและเอกชนเพื่อช่วยผลักดันให้โครงการดิจิทัลเฮลท์ในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับโซลูชันด้านเฮลท์แคร์เทคโนโลยีในอนาคต ต้องช่วยให้เกิดการส่งมอบด้านสาธารณสุขที่เท่าเทียมกันมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใครหรืออาศัยอยู่ที่ใด เราต้องแน่ใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งจำเป็นต้องมีแนวทางที่ครอบคลุมและได้รับความร่วมมือในการให้ผู้คนเป็นศูนย์กลางของกระบวนการทางนวัตกรรม และนั่นหมายถึงการรับฟังและทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่ต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมทางสาธารณสุขที่มีอยู่

8. การหมุนเวียน คือ กลยุทธ์ในการลดผลกระทบต่อสภาพอากาศของผู้ให้บริการด้านสาธารณสุข

การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุและอุบัติการณ์ของโรคเรื้อรัง ทำให้โมเดลด้านสาธารณสุขอย่างยั่งยืนเป็นที่ต้องการอย่างมาก รวมถึงปัญหาด้านพลังงาน ซึ่งอุตสาหกรรมด้านเฮลท์แคร์มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นร้อยละ 4 ของการปล่อยก๊าซทั้งหมดทั่วโลก [6] ซึ่งมากกว่าอุตสาหกรรมการบินหรือการขนส่งอีก และยังทำให้เกิดขยะจำนวนมากอีกด้วย ผู้บริหารในวงการเฮลท์แคร์ที่ให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน จึงมองหาเทคโนโลยีเฮลท์แคร์ที่สามารถช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนี้ได้

ในเทคโนโลยีเฮลท์แคร์ 'การหมุนเวียน' เกี่ยวข้องกับกระบวนการเกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์ แต่การประยุกต์ใช้เครื่องมือด้านสมาร์ทดิจิทัลก็ยังสามารถช่วยให้ระบบการดูแลสุขภาพสามารถลดการใช้ทรัพยากรการผลิต ' เพื่อส่งมอบประโยชน์สูงสุดโดยใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด ยกตัวอย่าง เช่น การสนับสนุนให้เปลี่ยนสิ่งอำนวยความสะดวกทางคลินิกที่ใช้ทรัพยากรมากไปสู่การใช้เครือข่ายที่เชื่อมต่อได้จากที่บ้านซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า และเทรนด์การใช้โซลูชั่นบนคลาวด์ โซลูชั่นบริการ และโซลูชั่นด้านซอฟต์แวร์นั้น จะช่วยประหยัดการใช้ทรัพยากรสำหรับเครื่องมือทางการแพทย์ และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ในขณะที่ยังเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น

9. ลดคาร์บอนในวงการเฮลท์แคร์ให้สอดคล้องกับการตั้งเป้าตามหลัก science-based

ผู้บริหารในวงการเฮลท์แคร์ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก และพยายามลงมือทำบางอย่างเพื่อรับผิดชอบต่อปัญหาดังกล่าว โดยบริษัทเครื่องมือแพทย์และบริษัทเทคโนโลยีด้านเฮลท์แคร์มีการตั้งเป้ากำหนดการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนตามหลัก science-based

ตัวอย่างเช่น รัฐแคลิฟอร์เนียได้ประกาศให้บริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไปต้องกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนภายในปีค.ศ. 2025 โดยมี Science Based Targets initiative (SBTi)เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนให้องค์กรต่างๆ กำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซอย่างชัดเจนว่าจะสามารถลดผลกระทบได้มากและเร็วเท่าใดเพื่อลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ในปีค.ศ. 2022 องค์กรมากกว่า 2,200 แห่ง ซึ่งมีมูลค่ารวมกันมากกว่า 1 ใน 3 ของมูลค่าเศรษฐกิจโลกได้ทำงานร่วมกับองค์กร SBTi
สำหรับองค์กรด้านเฮลท์แคร์ได้มีการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ด้วยการลดการใช้พลังงานทางตรงผ่านการนำเสนอเทคโนโลยีด้านด้านเฮลท์แคร์ที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น และทางอ้อม ด้วยการลดการปล่อยมลพิษผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

10. สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีต่อสุขภาพของประชากร

จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค Centers for Disease Control and Prevention (CDC) เผยว่าอุณหภูมิและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มสูงขึ้น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และผลกระทบด้านสภาพอากาศ ส่งผลต่อสุขภาพประชากรในด้านต่างๆ

บริษัทเครื่องมือแพทย์และบริษัทเทคโนโลยีด้านเฮลท์แคร์เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพผ่านการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน มลพิษ การบริโภค และการปล่อยก๊าซพิษ ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศที่ดีต่อสุขภาพของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะเห็นแนวโน้มการประยุกต์ใช้ในวงการเฮลท์แคร์ ด้านการ ‘ประเมินต้นทุนทางธรรมชาติ’ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรจากข้อมูลของ World Economic Forum พบว่าการป้องกันและฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติสามารถช่วยลดต้นทุนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 37 ซึ่งจำเป็นภายในปี ค.ศ. 2030 เพื่อรักษาภาวะโลกร้อนให้ลดลง 2 องศาเซลเซียสอีกทั้งยังช่วยรักษาสภาพแวดล้อมให้มีความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อคนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้